
Genya SAVILOV / AFP
ยูเครนจัดงานรำลึกครบรอบ 30 ปี เหตุหายนะโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิด ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก เดินทางร่วมพิธีอาลัย ณ อนุสรณ์สถานเชอร์โนบิล ในวันที่ 26 เมษายน 2559 เป็นวันครบรอบ 30 ปี หายนะโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิด อันนับเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของโรงไฟฟ้า (เมื่อ 30 ปีที่แล้วยังคงรวมกันอยู่เป็นสหภาพโซเวียต) ได้จัดงานรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่ออดีต โดยสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เสียงสัญญาณเตือนภัยถูกเปิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พร้อมกันนี้ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ไปรวมตัวกันที่โบสถ์เพื่อจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะที่เมืองสลาวูทิช ซึ่งถูกสร้างขึ้นหลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้าระเบิด เพื่อรองรับเหล่าคนงานที่อาศัยอยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล


Genya SAVILOV / AFP
เหตุการณ์หายนะโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 หรือ 30 ปีก่อน เมื่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 ใน 4 ของโรงงานไฟฟ้าเชอร์โนบิล ที่ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต จังหวัดเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ในขณะนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ได้เกิดระเบิดขึ้น หลังการทดลองผิดพลาด ทำให้มีเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิตจำนวน 31 คน มีผู้บาดเจ็บทางกัมมันตรังสี 203 คน และทำให้สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศ และขยายขอบเขตปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน

ANATOLII STEPANOV / AFP
อุบัติภัยในครั้งนั้น ถูกประเมินว่ามีความรุนแรงยิ่งกว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิและฮิโร
ชิมาในญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 ถึง 200 เท่า
และตามรายงานของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก
ระบุว่า แม้ว่าเชอร์โนบิลจะปิดตัวลงแล้ว
แต่ก็ยังคงมีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศ ทำให้ประชาชนอีก 5.5
ล้านคน ที่ยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีที่ยังมีปนเปื้อนอยู่
VLADIMIR REPIK / AFP