ประวัติพันท้ายนรสิงห์ นายทหารกล้าผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และจงรักภักดี

ประวัติพันท้ายนรสิงห์
ภาพจาก norasingha.go.th

        ประวัติพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือของพระเจ้าเสือ ผู้ที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ และรักษากฎมณเฑียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตน

        ด้วยเรื่องราวของ "พันท้ายนรสิงห์" ที่ถูกหยิบยกมาบอกเล่าทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และละคร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์ของชายคนหนึ่งที่ยอมรักษากฎเกณฑ์โดยใช้ชีวิตตนเข้าแลก เพื่อมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวของตนได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก "พันท้ายนรสิงห์" มากขึ้น เราขอพาไปทำความรู้จักกับประวัติ พันท้ายนรสิงห์ นายทหารผู้ซื่อสัตย์
          สำหรับประวัติของ พันท้ายนรสิงห์ นั้น เดิมมีนามว่า สิน เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อว่า ศรีนวล ต่อมา ได้มีโอกาสรับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา

          เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ โดยเนื้อความเป็นไปในลักษณะเดียวกันว่า พันท้ายนรสิงห์และพระเจ้าเสือพบกันเป็นครั้งแรก เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จฯ ไปยังตำบลบ้านตลาดกรวด อันเป็นตำบลบ้านหนึ่งของแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้าเสือได้ขึ้นชกมวยคาดเชือกกับพันท้ายนรสิงห์ ปรากฏว่า ผลการชกออกมาเสมอกัน และด้วยความที่พระเจ้าเสือรู้สึกประทับใจในตัวพันท้ายนรสิงห์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการเป็นพันท้ายนรสิงห์ ตำแหน่งนายท้ายเรือพระที่นั่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

พันท้ายนรสิงห์
ภาพจาก pantainorasingh.go.th

          ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงของพันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่ยกย่องด้านความซื่อสัตย์นั้น มาจากเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2246-2252 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน ทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดว่า "ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย"

          พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล แต่พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์ก็ยังยืนยันขอให้ตัดศีรษะตน เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

          พระเจ้าเสือ จึงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำฝืนพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี

พันท้ายนรสิงห์
ภาพจาก samutsakhon.go.th

          ต่อมา พระเจ้าเสือ พระราชดำริว่า คลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดตรง เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า "คลองสนามไชย" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "คลองมหาชัย" แต่ชาวบ้านเรียกว่า "คลองถ่าน" ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า "คลองด่าน"

          และด้วยคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้พันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก ในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์ ดังคำที่ว่า "ตายในหน้าที่ ดีกว่าอยู่ให้อับอาย"

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
norasingha.go.th, thai.tourismthailand.org, เฟซบุ๊ก ตามรอยครูบาอาจารย์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติพันท้ายนรสิงห์ นายทหารกล้าผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และจงรักภักดี อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2559 เวลา 14:25:33 203,663 อ่าน
TOP
x close