
จากสภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจ "หนี" และ "ทิ้ง" ปัญหาทุกอย่างด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" ซึ่งองค์การอนามัยโลกประมาณการสถานการณ์ทั่วโลกว่า ในแต่ละปีจะมีคนที่ตายจากการฆ่าตัวตาย กว่า 800,000 คน ซึ่งทุก ๆ 40 วินาที จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน
จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย มีแนวโน้มเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นจากปี 2558 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีอัตราอยู่ที่ 6.08 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุก ๆ 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ซึ่งภายใน 1 วัน จะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 11-12 ราย โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า และกลุ่มที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอายุ 35-39 ปี และผู้สูงอายุ 70-74 ปี
สำหรับปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่
- ปัญหาความสัมพันธ์ ความรักความหึงหวง เป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของการทำร้ายตนเองมากที่สุดถึงร้อยละ 20 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- โรคซึมเศร้า
- น้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า
ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2546 เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้

สำหรับ 10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย มีดังนี้
1. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ
2. ใช้สุรา หรือ ยาเสพติด
3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย
4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร
5. นอนไม่หลับเป็นเวลานาน
6. พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง
7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน สบายใจอย่างผิดหูผิดตา
8. ชอบพูดว่าอยากตาย หรือ ไม่อยากมีชีวิตอยู่
9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า
- พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง
- จัดการงานและทรัพย์สินให้เรียบร้อย
- แจกจ่ายของรักให้คนอื่น

ปัญหาการฆ่าตัวตาย เริ่มต้นป้องกันได้จากครอบครัว
1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเกินไปและไม่ใกล้ชิดจนเกินไป สมาชิกมีความเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน
2. สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่สื่อจากความรู้สึกของตัวเองโดยตรง เช่นบอกความรู้สึกความต้องการอย่างจริงใจ และถามความเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในความรู้สึกนึกคิด แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ใช้คำพูด เช่น มองหน้า สบตา การยิ้ม จับมือ โอบกอด การสัมผัส ก็จะช่วยสร้างพลังให้คนในครอบครัวได้
3. เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (Care) ด้วยการให้เวลากับคนในครอบครัว ใช้เวลาในทำกิจกรรมร่วมกัน ใส่ใจสอบถาม ร่วมมือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็พร้อมช่วยเหลือดูแล
ภาพและข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
***หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 17.34 ของวันที่ 8 กันยายน 2560