Thailand Web Stat

เรื่องเล่าพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 เจ้านายผู้อาภัพ


เรื่องเล่าพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 เจ้านายผู้อาภัพ

 
         เปิดเรื่องเล่า พระนางเธอลักษมีลาวัณ  พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับความอาภัพและโดดเดี่ยว ที่ไม่ว่าใครได้ฟังเป็นต้องชวนให้หดหู่

         นับเป็นเรื่องเล่าจากในวังอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง ในช่วงที่ผู้คนต่างสนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทย สำหรับเรื่องราวของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงมีพระชนม์ที่แสนเศร้า ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระมเหสี แล้วถูกพระราชสามีตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าในตำนานเกี่ยวกับราชวงศ์ที่พูดกันจากรุ่นสู่รุ่น โดย เฟซบุ๊ก เรารักและปกป้องพระราชวงศ์จักรี ได้นำเรื่องราวของพระองค์มาถ่ายทอดให้เราได้ฟังกัน ดังต่อไปนี้
         พระนางลักษมีลาวัณ ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ รวมถึงเป็นพระพระขนิษฐาต่างชนนี (น้องสาวต่างมารดา) ของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี โดยทรงพบกับพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท รวมไปถึง หม่อมเจ้าวรรณวิมล (ต่อมาคือ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี) และต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก และกลายเป็นพระคู่หมั้นในเวลาต่อมา

เรื่องเล่าพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 เจ้านายผู้อาภัพ

         ต่อมาไม่นานทรงได้ถอนหมั้นและสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ" ทันที พร้อมกับทรงหมั้นและมีพระราชวินิจฉัยว่า จะทรงทำการราชาภิเษกสมรสด้วย ครั้งหมั้นหมายเพียงไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา (ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี) พระองค์จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทั้งที่ยังมิทันได้อภิเษกสมรสกัน พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงตัดสินพระทัยแยกมาอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ ริมคลองแสนแสบ ทรงดำรงพระชนม์อย่างเรียบง่ายและเงียบสงบ ทรงใช้เวลาว่างไปกับการพระนิพนธ์ต่าง ๆ
         ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา สี่แยกพญาไท โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ทรงรักสันโดษและประทับอยู่เพียงพระองค์เดียวในพระตำหนัก จึงเปิดช่องให้ผู้ที่รู้ความเคลื่อนไหวในพระตำหนักดี นั่นคือ ข้าหลวงคนสวนเดิมในพระตำหนัก และรู้ว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บุคคลผู้นั้นจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ และย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียรขณะประทับพรวนดินอยู่จนสิ้นพระชนม์
 

         ชายคนสวนผู้นั้นจำนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยไม่รู้จัก เจ้าของโรงรับจำนำเห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเขาก็รับสารภาพถึงการฆาตกรรม และกล่าวว่าตนทราบแต่เพียงว่าพระนางทรงเป็นเจ้านาย ไม่คิดว่าจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ถึงเพียงนั้น

         ครั้งนั้น พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 เวลา 15.30 น. ว่าตนไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถ ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วถึง 3 วันหลังจากสิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุรวม 62 ชันษา
 

 ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
 เฟซบุ๊ก เรารักและปกป้องพระราชวงศ์จักรี
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องเล่าพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 เจ้านายผู้อาภัพ อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2559 เวลา 19:35:05 82,940 อ่าน
TOP
x close