รู้จักประเทศเลโซโท ดินแดนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร


เลโซโท

          เลโซโท ประเทศเล็ก ๆ ในทวีปแอฟริกา ที่จัดการปัญหาด้านเกษตรกรรมได้สำเร็จอย่างสวยงาม เพราะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปใช้

          จากข่าวพระมหากษัตริย์แห่งเลโซโทเสด็จฯ มาถวายพระราชสักการะพระบรมศพ [อ่านข่าว : เผยสาเหตุที่ กษัตริย์แห่งเลโซโท เสด็จฯ สักการะพระบรมศพ ในหลวง ร.9] และยังเสด็จฯ มาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ตุลาคม ทำให้หลาย ๆ คนอยากทำความรู้จักประเทศเลโซโทกันมากขึ้น ซึ่งทราบไหมว่า ดินแดนแห่งนี้ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไทยเดินทางไปให้ความรู้ และมอบทุนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเกษตรตัวอย่างในประเทศเลโซโทขึ้น จนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมในประเทศนี้ได้อย่างยั่งยืน เราจะมารู้จักประเทศเลโซโทให้มากยิ่งขึ้น

ชื่ออย่างเป็นทางการของเลโซโท

          ประเทศเลโซโท (Lesotho) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรเลโซโท (Kingdom of Lesotho)

อาณาเขต ที่ตั้งและพื้นที่ของเลโซโท

          ประเทศเลโซโทตั้งอยู่ในพื้นที่ราบสูงในทวีปแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยดินแดนของประเทศแอฟริกาใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยมีพื้นที่ประมาณ 30,344 ตารางกิโลเมตร
เลโซโท
 
เลโซโท
 
แผนที่ส่วนขยายทวีปแอฟริกา

แผนที่ประเทศเลโซโท


          ประเทศเลโซโทตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาใต้ โดยถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้หมดทุกทิศ ดังจะเห็นได้จากแผนที่ประเทศเลโซโท ดังนี้

เลโซโท

เลโซโท

เลโซโท เมืองหลวงคืออะไร

          เมืองหลวงของเลโซโทคือ กรุงมาเซรู (Maseru)

เลโซโท

สภาพทางภูมิศาสตร์

          สภาพภูมิประเทศเลโซโทเต็มไปด้วยภูเขา โดยเป็นประเทศที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500-3,350 เมตร

เลโซโท

สภาพภูมิอากาศ

          ประเทศเลโซโทมีสภาพอากาศอบอุ่นในช่วงฤดูร้อนและมีฝนตกทั่วประเทศ ส่วนในฤดูหนาวมีอากาศเย็นและมีหิมะตกในเขตที่ราบสูงบางพื้นที่

ภาษาหลักของเลโซโท

          ประเทศเลโซโทใช้ภาษาเซโซโท (โซโททางตอนใต้) ภาษาซูลู และเซาซา โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ
 
ธงชาติ

           ธงชาติเลโซโท มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน แบ่งเป็นแถบสี 3 แถบตามแนวนอน โดยแถบบนสุดเป็นสีน้ำเงิน แถบกลางสีขาว และแถบล่างสีเขียว ใจกลางธงมีรูปหมวกพื้นเมืองของเลโซโทสีดำ ที่เรียกว่า หมวกโมโกรอทโล (mokorotlo) มีลักษณะเป็นหมวกปีกกว้างชนิดหนึ่งของชาวบาโซโท

           ธงชาติเลโซโทนี้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี แห่งการได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร

ธงชาติเลโซโท

เลโซโท มีประชากรจำนวนเท่าไร

           ประชากรในประเทศเลโซโทขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยในบริเวณที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวแม่น้ำคาเลดอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมมากที่สุด

           ทว่าประเทศเลโซโทมีสภาพแวดล้อมค่อนข้างเปราะบาง จึงมีปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น หน้าดินเสื่อมง่าย เกิดความแห้งแล้ง และการเพิ่มขึ้นของประชากรก็เป็นเหตุผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น ดังนั้นประเทศเลโซโทจึงประสบปัญหาการผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ จนกระทั่งสามารถแก้ปัญหานี้สำเร็จเมื่อกษัตริย์แห่งเลโซโทน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาฟื้นฟูด้านเกษตรกรรม

เลโซโท
ภาพจาก Bas van den Heuvel/shutterstock.com

ชาวเลโซโท นับถือศาสนาอะไร

          ประชากรในประเทศเลโซโทส่วนใหญ่ 80% นับถือศาสนาคริสต์ และอีก 20% ที่เหลือนับถือลัทธิความเชื่อดั้งเดิม

ประวัติศาสตร์ประเทศเลโซโทโดยสังเขป

          ประเทศเลโซโทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2316 โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีโมโชโชที่ 1 เป็นผู้ปกครอง (เดิมใช้ชื่อประเทศบาซูโทแลนด์) ต่อมาชนเผ่าซูลูและคนผิวขาวเข้าไปตั้งหลักแหล่งในประเทศ แต่ถูกทางแอฟริกาใต้รุกราน บาซูโทแลนด์จึงขอรับความคุ้มครองจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร และมีฐานะเป็นรัฐในปกครองของสหราชอาณาจักร (British protectorate of Basutoland) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ได้ประกาศเอกราชและเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศเลโซโทในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีโมโชโชที่ 2
 
เลโซโท
ภาพจาก Gil.K/Shutterstock.com

การเมืองการปกครองในเลโซโท
   
          ประเทศเลโซโทมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข นับเป็น 1 ใน 3 ประเทศในทวีปแอฟริกา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นเดียวกับประเทศโมร็อกโก และประเทศสวาซิแลนด์ แต่กษัตริย์แห่งเลโซโทไม่มีอำนาจทางการบริหารและนิติบัญญัติ

          โดยอำนาจในการบริหารเป็นของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Pakalitha Mosisili ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ประเทศเลโซโทต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด อันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครอง แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นระยะ ๆ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพได้ จึงมีการชุมนุมประท้วง และเกิดการรัฐประหารขึ้น โดยการก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2557 ที่กองทัพเลโซโทได้เข้ายึดอำนาจ ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีโทมัส ทาบาเน แห่งเลโซโท ต้องลี้ภัยไปยังประเทศแอฟริกาใต้
 
กษัตริย์แห่งเลโซโท เสด็จฯ สักการะพระบรมศพ ในหลวง ร.9

กษัตริย์แห่งเลโซโท พระองค์ปัจจุบัน
   
          คือ สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งเลโซโท เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539-ปัจจุบัน ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา คือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมโชโชที่ 2 ทั้งนี้สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 ทรงเคยขึ้นครองราชย์มาแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2533-กุมภาพันธ์ 2538 ขณะที่พระราชบิดาทรงอยู่ระหว่างการลี้ภัยทางการเมือง

          สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 อภิเษกกับสมเด็จพระราชินีมาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ เจ้าหญิงเซนาตี เซเอโซ, เจ้าหญิงมาเซเอโซ และเจ้าชายเลโรโทรี เซเอโซ

สภาพเศรษฐกิจของประเทศเลโซโท
   
          รายได้หลักของประเทศเลโซโทมาจากภาคเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญอันได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ขนสัตว์ ผ้าขนสัตว์ อาหารสัตว์ และสัตว์มีชีวิต
   
          นอกจากนี้เซโลโทยังมีรายได้จากโครงการสร้างเขื่อนและอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำจากเลโซโทไปให้แอฟริกาใต้ ทำรายได้ให้เลโซโทประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานให้ประชากรในประเทศอีกกว่า 10,000 คน

สกุลเงิน เลโซโท

สกุลเงินของเลโซโท
 
          ในประเทศเลโซโทใช้สกุลเงินโลติเลโซโท (LSL) โดย 1 LSL ประมาณ 2.54 บาท  

กษัตริย์แห่งเลโซโท เสด็จฯ สักการะพระบรมศพ ในหลวง ร.9

กษัตริย์แห่งเลโซโท เสด็จฯ สักการะพระบรมศพ ในหลวง ร.9

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลโซโทกับประเทศไทย และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

          จากที่สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 เสด็จฯ มาถวายพระราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้เราต้องย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ในครั้งที่สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 เคยเสด็จฯ มาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งในครั้งนั้นได้เสด็จฯ ไปยังศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ เป็นการส่วนพระองค์ เนื่องจากทรงสนพระราชหฤทัยในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้ขอพระบรมราชานุญาตนำแนวพระราชดำริดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ยังประเทศเลโซโท พร้อมกันนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไทยเดินทางไปให้ความรู้ และมอบทุนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเกษตรตัวอย่างในประเทศเลโซโทขึ้น

          นั่นเพราะแต่เดิมนั้น เกษตรกรเลโซโทแต่ละรายปลูกพืชเพียงอย่างเดียว และพึ่งพาแต่น้ำฝนเท่านั้น ทำให้ผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภค แต่เมื่อนำการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริไปใช้ ทำให้ชาวเลโซโทปลูกพืชหลายชนิดในที่ดินแปลงเดียวกัน โดยเน้นปลูกพืชที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ ไม่ได้ปลูกแต่พืชที่มุ่งเน้นการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ทำให้ปัจจุบันชาวเลโซโทผลิตอาหารเองได้ นับว่าเป็นการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
 
          นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนประเทศเลโซโทเพื่อติดตามความก้าวหน้า และพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้ส่งมอบอาคารการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่เลโซโทดำเนินการต่อ

เลโซโท

เลโซโท มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรบ้าง

        เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและภูเขา ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของเลโซโท แน่นอนว่าต้องหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวแบบป่าเขา ซึ่งจะมีที่ไหนบ้างนั้น ดูได้จาก

        - เที่ยวเลโซโท ดินแดนสุดเงียบสงบและเรียบง่ายในแอฟริกา

เที่ยวเลโซโท

เที่ยวเลโซโท

อยากเที่ยวเลโซโท ต้องขอวีซ่าที่ไหน

          เลโซโท มีกงสุลในประเทศไทยด้วยนะคะ โดยเป็นสถานกงสุลแห่งราชอาณาจักรเลโซโท ประจำประเทศไทย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 2 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 5 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2411-6011 โดยมีคุณอภิชาติ สุดแสวง ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์
   
          แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการจะไปเที่ยวประเทศเลโซโท จะต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวเลโซโทเสียก่อน (เมื่อวีซ่าอนุมัติจะสามารถพำนักอยู่ในเลโซโทได้ 30 วัน) โดยสามารถยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวประเทศเลโซโทได้ที่สถานกงสุลแห่งราชอาณาจักรเลโซโท ประจำประเทศไทย ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.lesothoconsulate-thai.or.th หรือติดต่อที่สถานกงสุลแห่งราชอาณาจักรเลโซโท ประจำประเทศไทยได้เลยค่ะ

          และนี่ก็เป็นข้อมูลของประเทศเลโซโทที่เรานำมาให้ทุกคนได้ศึกษาและทำความรู้จัก ที่สำคัญเรายังอยากให้ทุกคนน้อมรำลึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถนำไปแก้ปัญหาปากท้องได้จริง ๆ และเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอีกด้วยนะคะ


ภาพจาก เฟซบุ๊ก กระทรวงการต่างประเทศ, เฟซบุ๊ก บ้านสวนบุญยังรักในหลวง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
- กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
- กระทรวงการต่างประเทศ
- สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
- สถานกงสุลกิตติมศักดิ์เลโซโทประจำประเทศไทย 
- BBC
- Central Intelligence Agency

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักประเทศเลโซโท ดินแดนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 13:50:03 71,193 อ่าน
TOP
x close