
หากเอ่ยถึงวรรณคดีที่สำคัญ ๆ ของไทยแล้วนั้น เชื่อได้เลยว่าชื่อของ รามเกียรติ์ จะต้องติดอยู่ในโผวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากมีความสนุกสนาน ครบทุกรส มีการสอดแทรกข้อคิดคุณธรรม ทั้งเนื้อเรื่องยังออกแนวแฟนตาซี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะชื่นชอบเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งแต่เดิมมีเค้าโครงมาจาก มหากาพย์รามายณะ ของอินเดีย โดยเริ่มแพร่หลายเข้ามาเป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ประเทศไทยเริ่มมีวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ให้อ่านจนถึงปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นเมื่อใดและมีความสำคัญอย่างไร


หากจะตอบคำถามเรื่องนี้ได้นั้น ต้องขอเล่าย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ต้องการที่จะฟื้นฟูบ้านเมืองให้มีความเจริญเทียบเท่าอารยประเทศ จึงมีการฟื้นฟูด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา, การปกครอง และศิลปวัฒนธรรม โดยส่วนใหญ่แล้วการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมจะเน้นเรื่องวรรณกรรมเป็นหลัก อย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ที่มีการค้นพบว่าเก่าแก่ที่สุดในสมัยอยุธยาแต่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก ทำให้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงเริ่มพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ใหม่ด้วยพระองค์เองลงในสมุดปกดำแบบโบราณ ซึ่งมีความยาวประมาณ 102 เล่มตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องอื่น ๆ อีก อาทิ อุณรุท, อิเหนา และนิราศท่าดินแดง เป็นต้น
นอกจากนี้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2404 ยังเป็นวันประสูติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าวรวรรณากร" ซึ่งมีผลงานชิ้นเอกจากการที่ทรงพระนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง "สร้อยคอที่หาย" ซึ่งเคยบรรจุในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ และบทละครร้องสาวเครือฟ้า ที่ดัดแปลงจากอุปรากร Madame Butterfly ของต่างประเทศ รวมทั้งทรงพระนิพนธ์บทละครร้องอีกหลายชิ้นจนได้รับพระสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งการละครร้อง"

แต่เรื่องราวสำคัญ ๆ ของวันที่ 20 พฤศจิกายน ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 2502 ยังมีเหตุการณ์สำคัญอีก 1 เหตุการณ์ นั่นก็คือ การที่สมัชชาสหประชาชาติให้การรับรองอนุสัญญาสิทธิเด็กในการประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ และได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสิทธิเด็กสากล เพื่อให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กนั่นเอง
ภาพจาก ครอบครัวข่าว 3
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
