วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี

          วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) ที่องค์การสหประชาชาติมีมติยอมรับให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากล ซึ่งเราชาวไทยทุกคนก็ควรได้รู้ถึงประวัติวันดินโลกไว้เป็นความประทับใจที่ชีวิตนี้ได้เกิดในรัชกาลที่ 9
 
วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

วันดินโลก 5 ธันวาคม


          นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันพ่อแห่งชาติมาตลอดในรัชกาลที่ 9 แล้ว ทั่วโลกยังให้ความสำคัญต่อวันนี้ในฐานะวันดินโลก (World Soil Day) ตามมติของ UN อีกด้วย ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนมาทราบถึงประวัติวันดินโลก และความสำคัญของวันดินโลก พร้อมด้วยโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน อันเป็นเหตุผลสำคัญยิ่งที่ทำให้มีวันดินโลก

5 ธันวาคม วันดินโลก

ประวัติวันดินโลก


          วันดินโลก (World Soil Day) ถูกกำหนดขึ้นตามมติขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) และกำหนดให้ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soils) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดินต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

          ทั้งนี้ สาเหตุที่กำหนดให้วันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม นั้น สืบเนื่องจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2545 ทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาทรัพยากรดิน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร จึงได้เลือกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อเทิดพระเกียรติพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการปกป้องและพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งถ้าให้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาทรัพยากรดิน เราก็ขออนุญาตพาคนไทยทุกคนมาทบทวนโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดินของในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังนี้

วันดินโลก (World Soil Day)

วันดินโลก (World Soil Day)
ภาพจาก rdpb.go.th

1. โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)


          ตั้งอยู่ที่บ้านเขาชะงุ้ม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืช อย่างถูกต้อง มีความยั่งยืน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


2. โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว


          ด้วยพระปรีชาสามารถของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก ด้วยการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนถ่ายดินจากแปลงหนึ่งสู่แปลงหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยวของดิน อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ปูนมาร์ลและสาหร่ายในการปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาผลกระทบของการใช้เถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเพิ่มเติมอีกด้วย


3. โครงการหญ้าแฝก


          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่ Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยทรงให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

วันดินโลก (World Soil Day)

วันดินโลก (World Soil Day)
ภาพจาก rdpb.go.th

4. โครงการแกล้งดิน


          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยว ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี "การแกล้งดิน" คือ เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นจึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เช่น ข้าว 


5. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน


          ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 216 ไร่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของผืนดิน จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านรอบ ๆ ศูนย์ โดยการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และสนามทดลองทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม และพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตนเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่งด้วย


6. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย


          หนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่า ทำให้พื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทรายเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสามารถฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของประชากรได้อย่างต่อเนื่อง


7. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้


          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ ด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งด้านอุตสาหกรรม เนื่องมาจากมีพระราชประสงค์ที่จะให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

          โดยในด้านดินและเกษตรกรรม มีพระราชดำริให้ศึกษาพัฒนาสภาพดินในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด โดยได้ทำการทดลองปลูกพืชที่เหมาะสม ทดสอบประโยชน์ของดินชนิดนี้ในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งศึกษาความยาก-ง่ายในการชะล้างพังทลายของดินดังกล่าวไว้เพื่อหาวิธีป้องกัน และเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่งผลให้ประชากรมีพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยได้อย่างไม่ลำบากมากนัก

          หวนนึกไปถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อใด เมื่อนั้นก็รู้สึกว่าเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นประชาชนของพระองค์ท่านนะคะ ซึ่งนอกจากวันดินโลกจะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระวิริยอุตสาหะของพ่อหลวง ร.9 แล้ว เราก็เชื่อว่าชาวไทยทุกคนคงทราบกันดีถึงความหมายของพระนามพระองค์ท่าน อันหมายถึง กำลังของแผ่นดิน...

          "อันที่จริงเราชื่อ "ภูมิพล" ที่แปลว่า "กำลังของแผ่นดิน" แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน"...พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร




ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)มูลนิธิชัยพัฒนาเรารักพระเจ้าอยู่หัว, un.org
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2567 เวลา 22:45:32 132,469 อ่าน
TOP
x close