วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ประวัติวันพ่อแห่งชาติ

 

          วันพ่อแห่งชาติ มาอ่านประวัติความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติในประเทศไทยและทั่วโลกกัน

วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

          เราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าวันที่ 5 ธันวาคม เป็น "วันพ่อแห่งชาติ" โดยทางราชการได้กำหนดให้วันพ่อแห่งชาติ เป็นวันหยุดราชการ แต่รู้กันหรือไม่ว่า วันพ่อแห่งชาติ ของแต่ละประเทศตรงกับวันไหน และ วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทยมีที่มาอย่างไร ข้อมูลสำคัญนี้นอกจะเป็นความรู้กับประชาชนทั่วไปแล้ว น้อง ๆนักเรียน นักศึกษา ยังสามารถนำไปใช้อ้างอิงในงานหรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ได้ เช่น กิจกรรมวันพ่อ นิทรรศการวันพ่อ หรือ เรียงความวันพ่อ เป็นต้น กระปุกดอทคอม จะพาไปรู้จักเรื่องราวของ "วันพ่อแห่งชาติ" กันค่ะ


ประวัติวันพ่อแห่งชาติและวันพ่อแห่งชาติทั่วโลก


          วันพ่อแห่งชาติ ถือเป็นวันสำคัญที่ฉลองถึงความเป็นพ่อ และบุคคลที่นับถือเยี่ยงพ่อ โดย จอห์น บี. ดอดด์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิด วันพ่อแห่งชาติ โดยงาน วันพ่อแห่งชาติ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2461 ในโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองแฟร์มอนต์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา 

          ก่อนที่แนวคิดวันพ่อแห่งชาติของจอห์น บี. ดอดด์ จะถูกเผยแพร่ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยวันพ่อแห่งชาติของแต่ละประเทศจะกำหนดวันและจัดงานแตกต่างกันไป เช่น

          วันที่ 19 มีนาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี

          วันที่ 8 พฤษภาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเกาหลีใต้

          วันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเดนมาร์ก

          วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร

          วันที่ 23 มิถุนายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศโปแลนด์

          วันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศบราซิล

          วันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

          วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์

          วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทย

 



ภาพจาก : LightMemoryStockPhoto / Shutterstock.com 



วันพ่อแห่งชาติในประเทศไทย


          สำหรับวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 และยังได้มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษา เป็นสัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ

          ทั้งนี้ นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" แล้ว ยังถือว่าวันนี้เป็น "วันชาติของไทย" อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการกำหนดวันชาติให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  

          ซึ่ง "วันชาติ" ของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี จนวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยเหตุที่เปลี่ยนเพราะมีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน 

          จึงควรถือเอาวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 
ภาพจาก : ARZTSAMUI / Shutterstock.com 

 

ที่มาของวันพ่อแห่งชาติในประเทศไทย


          วันพ่อแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจาก "พ่อ" คือผู้ที่ควรได้รับการเทิดทูนและยกย่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และทรงทำนุบำรุงพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยความรัก ทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

           นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังมีพระมหากรุณาธิคุณทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรถ้วนหน้า จึงถือเป็น "พ่อแห่งชาติ" ของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท


วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ


         วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ คือ 

         1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

         2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม 

         3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ 

         4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน 

         5. เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับพ่อและลูกที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี สมควรแก่การยกย่องของสังคม

         6. เพื่อรักษาประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป




กิจกรรม 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ


          กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ได้แก่ การประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน, การจัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร, การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และที่ขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ คือ การมอบรางวัลพ่อตัวอย่างหรือพ่อดีเด่น เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งเพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน 

          และในวันพ่อแห่งชาตินี้ ลูก ๆ ทั้งหลายก็อย่าลืมแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพ่อ แม้ว่าจริง ๆ แล้วการแสดงความรักและความกตัญญูต่อพ่อสามารถแสดงได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่วันพ่อแห่งชาติเพียงวันเดียว


ขอบคุณข้อมูลจาก : ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหงเว็บไซต์เทศบาลเมืองทุ่งสง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ประวัติวันพ่อแห่งชาติ อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2567 เวลา 22:50:16 793,549 อ่าน
TOP
x close