ความหมายของสถาบันครอบครัว
1. ความหมายทั่วไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "สถาบัน" และ "ครอบครัว" ไว้ดังนี้
- สถาบัน หมายถึง สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ
- ครอบครัว หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร
2. ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์
ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่ามารดาบิดาก็ดี สามีภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว
3. ความหมายในแง่สถาบัน
ครอบครัว หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก
ความสำคัญของวันครอบครัว
ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษยชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้งและห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้
ประวัติวันครอบครัว
สืบเนื่องจากคนไทยสมัยก่อนจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ รวมกันอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน ความใหญ่เล็กของบ้านขึ้นอยู่กับจำนวนคน และต่อเติมขนาดของบ้านเรื่อยไปตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ถึงเทศกาลก็ทำข้าวของอาหารไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ญาติพี่น้องจะเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือกัน ข้าวของอาหารที่เหลือก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกและครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันครอบครัว" ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา
บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่พึงปฏิบัติต่อกัน
1. ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทรต่อกัน
2. หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
3. ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน
4. ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น
5. รู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือย
6. รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
7. ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวร่วมกัน เช่น การเข้าวัดอบรมปฏิบัติธรรม นำครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวสนุกกับห้องสมุด ศิลปะสุดสัปดาห์
กิจกรรมวันครอบครัว
กิจกรรมในส่วนของหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ
1. จัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว
2. จัดมอบรางวัลให้สำหรับครอบครัวดีเด่น เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครอบครัวที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
กิจกรรมในส่วนของครอบครัว
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติกันในวันครอบครัว คือ การให้เวลากับครอบครัวมากยิ่งขึ้น อาทิ การทำอาหารไปกินกันตามสถานที่ต่าง ๆ การไปกินอาหารนอกบ้าน การไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งการไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
แต่สำหรับครอบครัวที่ไม่มีโปรแกรมออกข้างนอกก็สามารถสร้างกิจกรรมในบ้านเชื่อมสัมพันธ์ได้หลากหลาย เช่น การช่วยกันทำอาหารกินที่บ้าน หาหนังสักเรื่องมาดูด้วยกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ