x close

วันนี้ในอดีต 10 ธันวาคม 2482 ประกาศใช้เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบันครั้งแรก


เพลงชาติไทย

          ย้อนเรื่องราว วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลประกาศใช้ เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน โดย พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ แทนฉบับเดิมของ พระเจนดุริยางค์

          เพลงชาติไทย เป็นเพลงประจำชาติที่คนไทยทุกคนสามารถร้องได้อย่างแน่นอน แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่า กว่าจะมีเพลงชาติไทยในเวอร์ชั่นปัจจุบันที่เปิดกันทุก 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น อย่างเช่นทุกวันนี้ เพลงชาติไทยถูกประพันธ์และขับร้องมาแล้วหลากหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมจะขอเล่าย้อนประวัติความเป็นมาของเพลงชาติไทยให้ฟังกัน...

          หากย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคแรกในการบุกเบิกเพลงชาติก็ว่าได้ เนื่องจากในสมัยนั้นมีทหารอังกฤษ 2 นายทำหน้าที่ฝึกทหารเกณฑ์ให้กับวังหลวงและวังหน้าและได้นำเพลง ก็อด เซฟ เดอะ ควีน (God Save the Queen) ซึ่งเป็นเพลงประจำชาติประเทศอังกฤษในขณะนั้นมาใช้ในการฝึก รวมทั้งนำเพลงดังกล่าวมาใช้เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์สำหรับกองทหารไทยในช่วง พ.ศ. 2395-2414 เรียกว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ"

          ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้นำเพลง ก็อด เซฟ เดอะ ควีน ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ และได้ตั้งชื่อว่า "จอมราชจงเจริญ" ถือเป็นจุดกำเนิดเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ กลับจากประเทศสิงคโปร์ พระองค์โปรดให้คณะครูดนตรีไทยหาเพลงชาติที่มีความเป็นไทยมาใช้แทนเพลงก็อด เซฟ เดอะ ควีน ทำให้มีการนำเพลงทรงพระสุบิน หรือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มาเรียบเรียงใหม่

          ทั้งนี้ในภายหลังได้มีการนำเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติ ในระหว่างปี พ.ศ. 2431-2475


เพลงชาติไทย

          แต่ในเวลาต่อมาเมื่อประเทศเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางคณะราษฎรได้มีการนำ เพลงชาติมหาชัย มาใช้เป็นเพลงชาติชั่วคราวอยู่ 7 วัน ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งประพันธ์โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้ร้องปลุกใจประชาชน ระหว่างรอ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แต่งเพลงชาติขึ้นมาใหม่

เพลงชาติไทย

          โดยเพลงชาติฉบับของ พระเจนดุริยางค์ ประพันธ์คำร้องโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ถูกนำมาใช้ในช่วงปี พ.ศ. 2475-2477 ก่อนจะมีการเพิ่มเนื้อร้องของ นายฉันท์ ขำวิไล ต่อจากของเดิม ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. 2477-2482 และถือเป็นเพลงชาติฉบับราชการ ฉบับแรกอีกด้วย

เพลงชาติไทย

          แต่เนื่องจากเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์ มีเนื้อร้องยาวจนเกินไป ประกอบกับ ในช่วงนั้นคือปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" ทำให้ทางการได้จัดประกวดเฟ้นหาเพลงชาติฉบับใหม่ให้คล้องจองกับชื่อประเทศ ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขให้ยังคงใช้ทำนองของ พระเจนดุริยางค์ เช่นเดิม แต่ให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น โดยผู้ที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ คือ "พันเอก หลวงสารานุประพันธ์" (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งในนามของกองทัพบก ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องเล็กน้อยก่อนจะนำเพลงชาติฉบับนี้มาประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนั่นเอง

เพลงชาติไทย

เพลงชาติไทย


          นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เรียบเรียงและจัดทำเพลงชาติขึ้นมาใหม่ให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นถึง 6 แบบด้วยกัน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก


ภาพและข้อมูลจาก sawanbanna.bizhat.com, เพลงชาติ.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันนี้ในอดีต 10 ธันวาคม 2482 ประกาศใช้เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบันครั้งแรก อัปเดตล่าสุด 8 ธันวาคม 2560 เวลา 18:30:52 13,192 อ่าน
TOP