ครม. อนุมัติแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สั่งนายจ้างจ่ายชดเชยลูกจ้างเกษียณ

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

              ครม. เห็นชอบ แก้  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดลูกจ้างอายุครบ 60 ปีเกษียณ ถือเป็นการเลิกจ้าง และนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 10 เดือน เร่งบังคับใช้ภายในพฤษภาคมนี้

              วันที่ 5 มกราคม 2560 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงคุ้มครองแรงงานประเภทต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจของภาคเอกชน ประกอบด้วย

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
              1. การเพิ่มอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มบางประเภท เช่น ลูกจ้างเด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ

              2. ยกเลิกบทบัญญัติให้นายจ้างส่งสำเนาข้อบังคับที่เกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยให้สามารถจัดเก็บสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้ที่สถานประกอบกิจการแทน

              3. กำหนดให้การเกษียณอายุลูกจ้างเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ถือเป็นการเลิกจ้าง และมีสิทธิ์ได้รับการชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

              สำหรับอัตราการจ่ายชดเชยการเกษียณอายุของลูกจ้างให้ครอบคลุมลูกจ้างทั้งระบบ และได้รับการจ่ายชดเชยจากนายจ้างตามมาตรา 144 ที่กำหนดการชดเชยการเลิกจ้างกรณีที่ลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปให้ได้รับชดเชยค่าจ้างในอัตรา 10 เดือน กรณีทำงาน 6-10 ปี ได้รับชดเชยค่าจ้าง 8 เดือน และกรณีทำงานตั้งแต่ 3-6 ปี ได้รับชดเชย 6 เดือน หากนายจ้างฝ่าฝืนให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินปีละ 1 แสนบาทคิดดอกเบี้ยจากการล่าช้าปีละ 15%

              อย่างไรก็ตาม การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในการคุ้มครองแรงงานจากการที่ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 เพื่อให้ทันต่อการประเมินผลจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business ของธนาคารโลก

ภาพจาก สปริงนิวส์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

สำนักข่าว INN
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. อนุมัติแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สั่งนายจ้างจ่ายชดเชยลูกจ้างเกษียณ อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2560 เวลา 15:23:43 22,603 อ่าน
TOP
x close