ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 (ตั้งแต่ ค.ศ. 1801 หรือประมาณ พ.ศ. 2344) นักดาราศาสตร์สมัยนั้น เชื่อว่ามีบางสิ่งรบกวนวงโคจรของดาวยูเรนัส ดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ในระบบสุริยะ ซึ่งในขณะนั้นเป็นดาวเคราะห์ดวงนอกสุดที่อยู่ในระบบสุริยะ จึงทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ต้องมีดาวเคราะห์ดวงอื่นอยู่ไกลถัดจากดาวยูเรนัสไปอีก และจากนั้นในปี ค.ศ. 1846 (พ.ศ. 2389) นักดาราศาสตร์ก็ค้นพบดาวเนปจูน ซึ่งต่อมากลายเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ในระบบสุริยะ
อย่างไรก็ดี หลังจากการค้นพบดาวเนปจูนแล้ว ก็ไม่ทำให้คลายปริศนา เนื่องจากวงโคจรของดาวเนปจูนก็ยังมีความผิดปกติที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้เช่นกัน ทำให้เหล่านักดาราศาสตร์เชื่อว่า จะต้องมีดาวเคราะห์ดวงอื่นที่อยู่ไกลออกไปจากดาวเนปจูนอย่างแน่นอน ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าว นำมาซึ่งการค้นพบดาวพลูโต... และบุคคลสำคัญผู้ค้นพบดาวพลูโตก็คือ ไคลด์ ทอมบอห์ (Clyde Tombaugh)
ทอมบอห์ เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) เติบโตขึ้นที่ในฟาร์มแห่งหนึ่งในสตรีทเตอร์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ ช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาค่อนข้างลำบาก โดยหลังจากพืชผักที่ทางครอบครัวปลูกประสบปัญหาถูกพายุลูกเห็บทำลายเสียหาย เขาก็หมดโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรค เขาก็ไม่เคยล้มเลิกความฝันที่อยากจะเป็นนักดาราศาสตร์ หลังจากนั้นเขาได้เริ่มการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะด้านคณิตศาสตร์ด้วยตัวเอง อันได้แก่ วิชาเลขาคณิต และตรีโกณมิติ รวมไปถึงการเฝ้าสังเกตท้องฟ้าอวกาศด้วยกล้องโทรทรรศน์ประดิษฐ์เอง !
ทอมบอห์ ได้ส่งภาพวาดของดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ไปให้กับทางหอดูดาวโลเวลล์ ในเมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา เพื่อขอคำแนะนำ แต่แล้วเขากลับได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงาน หลังจากนั้นเขาจึงไปทำงานเป็นนักสังเกตการณ์อยู่ที่นั่น เรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929-1945 (พ.ศ. 2472-2488) โดยขณะที่ ทอมบอห์ ทำงานอยู่ที่หอดูดาวโลเวลล์นั้น ชื่อของเขาก็ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้ค้นพบ "ดาวพลูโต" เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) โดยการค้นพบครั้งสำคัญนี้ เขาบังเอิญค้นพบมันโดยบังเอิญขณะสำรวจท้องฟ้า ซึ่งต่อมาพลูโตก็กลายเป็น "ดาวเคราะห์" อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะ จากนั้น ทอมบอห์ ก็ได้รับรางวัลทุนการศึกษา เข้าเรียนด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัส ก่อนจะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482)
อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดของดาวพลูโตที่เล็กมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยเพียง 2,368 กิโลเมตร และที่สำคัญคือ วงวงโคจรของมันแปลกแยกจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นมีวงโคจรที่ค่อนข้างกลมและโคจรเอียงจากระนาบสุริยวิถีเพียงเล็กน้อย แต่ดาวพลูโตกลับโคจรเป็นวงรี เอียงจากระนาบสุริยวิถีไปมากถึง 17 องศา อีกทั้งยังโคจรทับวงโคจรของดาวเนปจูนด้วย
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจึงได้เริ่มลงความเห็นระบุให้ลดขั้นของดาวพลูโตให้เหลือเป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ ในที่สุดดาวพลูโตก็สูญเสียสถานภาพการเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นมานานกว่า 76 ปี และทำให้ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวงเท่านั้น
ภาพจาก Lowell Observatory, NASA
ข้อมูลจาก solarsystem.nasa.gov, earthsky.org, www.space.com