Thailand Web Stat

รำลึก 17 ปี







         เสียงปืนก้องจากราวป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ใช้ปืนปลิดวิญญาณออกจากร่าง เพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายผืนป่าและสัตว์ป่า โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในผืนป่าห้วยขาแข้ง

          ผ่านมาแล้ว 17 ปี เรื่องราวของนักอนุรักษ์ผู้นี้ยังอยู่ในความทรงจำของคนทั้งประเทศไทย การตายของสืบ คือเครื่องย้ำจุดยืนการทำงานด้านป่าและสัตว์ป่ามากมาย

          สืบ นาคะเสถียร หรือชื่อเดิม “สืบยศ” เกิดเมื่อ วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม สืบมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยสืบเป็นบุตรชายคนโต

          ในวัยเด็กสืบได้ช่วยงานในนาของมารดาด้วยความอดทน บุคลิกประจำตัว คือเมื่อเขาสนใจหรือตั้งใจทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีมาโดยตลอด

          สืบเคยเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า“สมัยเด็ก ๆ แม่สอนผมทุกอย่าง แม่ยังคิดว่าจะเป็นลูกผู้หญิง ผมเย็บจักรได้ ผมทำกับข้าวเป็น ตื่นเช้าผมจะต้องถูบ้าน ต้องหุงข้าวใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน กลับมาบ้านผม จะต้องไปเก็บกวาด แม่สอนผมทุกอย่าง”

          หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาสืบได้เข้าศึกษาต่อในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2514 และต่อมาได้ทำงานที่ส่วนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติใน พ.ศ. 2517 สืบเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้งานแรกของสืบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี เป็นจุดที่ทำให้สืบได้เรียนรู้ว่าได้มีผู้มีอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าจำนวนมาก

          ในปี พ.ศ. 2524 สืบได้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น และสองปีต่อมา ในปี 2526 สืบได้ขอย้ายตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 สืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานีมีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยแหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์จำนวนมากที่ตายไปจากการสร้างเขื่อน ในระหว่างที่ทำงานด้านนี้ สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการ ไปสู่นักอนุรักษ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี ทุกครั้งที่เขาขึ้นเวทีเพื่ออภิปราย ประโยคที่เขามักพูดประจำว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

          สืบเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อปี พ.ศ. 2532  พร้อม ๆ กับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

          สืบได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโกเพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและ ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า “ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

          ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตฯ ถึงแม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจากการดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่

          ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมากกว่านั้นปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ได้ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์

          ในความคิดของสืบ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำลายป่าได้ คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา ให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

          ราวตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 ยามในห้วยขาแข้งได้ยินเสียงปืนหนึ่งนัด แต่ไม่มีใครคิดอะไร เสียงปืนมักเกิดขึ้นเสมอในผืนป่ากว้างใหญ่ จนประมาณ 10 โมงเช้า หัวหน้าอุทยานไม่ลงมากินข้าว ลูกน้องคนสนิทขึ้นไปบนบ้าน ก็พบเพียงร่างไร้วิญญาณของหัวหน้าสืบ และบนเตียงมีจดหมายลาตายบอกไว้ด้วยว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวตายเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย

          การอัตวินิบาตกรรมตัวเองของสืบในวันนั้น ทำให้ป่าห้วยขาแข้งได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง องค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปี 2534 ในที่สุด


ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รำลึก 17 ปี อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2558 เวลา 16:29:15 4,232 อ่าน
TOP
x close