วันสืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน ร่วมรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร


          วันสืบ นาคะเสถียร ตรงกับวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประวัติเป็นมาอย่างไร มาดูกัน

วันสืบ นาคะเสถียร

          หากเอ่ยถึงชายคนหนึ่งที่รักป่ายิ่งกว่าชีวิต ชื่อของ สืบ นาคะเสถียร คงยังติดตรึงอยู่ในใจใครหลายคน เพราะเขาไม่ใช่เพียงคนที่รักและอุทิศตัวของเขาเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้เท่านั้น แต่เขาอุทิศทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของเขาไว้ที่นั่น ด้วยเสียงปืนที่ลั่นขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 เขาหวังว่าจะมีส่วนทำให้ผู้คนเหลียวมามองป่ามากกว่าเดิมด้วยการเสียสละชีวิต 

ประเทศไทยจะดีขึ้น ถ้าคนที่มีโอกาสจะยอมเสียสละโอกาสบ้าง : สืบ นาคะเสถียร


          "ป่าไม้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์เราเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ทำลายมรดกของธรรมชาติมาอย่างช้านาน 

จะมีสักกี่คน ที่ตระหนัก และระลึกถึงคุณค่าของผืนป่า เทียบเท่ากับผู้เสียสละคนนี้..." สืบ นาคะเสถียร


ประวัติและผลงาน สืบ นาคะเสถียร


ประวัติและผลงาน สืบ นาคะเสถียร

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

          สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม สืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดย สืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต

          ในวัยเด็ก สืบ นาคะเสถียร ได้ช่วยงานในนาของมารดาด้วยความอดทน บุคลิกประจำตัวคือ เมื่อเขาสนใจหรือตั้งใจทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ

          เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบ นาคะเสถียร ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่นเดียวกัน จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 

          สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติช เคานซิล เรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2524

ประวัติสืบ นาคะเสถียร


          - พ.ศ. 2502 สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่งและนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

          - พ.ศ. 2510-2514 สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรม เพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 35

          - พ.ศ. 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์

          - พ.ศ. 2518 สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

          - พ.ศ. 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาอนุรักษวิทยา

          - พ.ศ. 2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรกคือ การศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

          - พ.ศ. 2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจอง ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบ นาคะเสถียร มาก

          - พ.ศ. 2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้นสืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

          - พ.ศ. 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมากล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า"

          - พ.ศ. 2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนนักอนุรักษ์ ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า "คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน"

          - พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

          - 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร สะสางงานและเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

          - 18 กันยายน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่และผองเพื่อนนักอนุรักษ์ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร

          - 26 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

          - พ.ศ. 2542 มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่า สืบ นาคะเสถียร ติดอันดับที่ 2


ผลงานของ สืบ นาคะเสถียร


สืบ นาคะสเถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

          หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ นาคะเสถียร กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

          จนกระทั่ง พ.ศ. 2526 สืบ นาคะเสถียร ได้ขอย้ายตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว "ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้าน"

          ในระยะนี้เป็นจังหวะที่สืบได้แสดงความเป็นนักวิชาการออกมาอย่างเต็มที่ งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่สืบ นาคะเสถียร ทำได้ดีและมีความสุขในการทำงานวิชาการมาก สืบ นาคะเสถียร รักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ผูกพันกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง งานวิจัยในช่วงแรกของสืบเป็นการวิจัยนก สืบได้เริ่มใช้เครื่องมือในการบันทึกงานวิจัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทยในเวลาต่อมา ได้แก่ ภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันรูป ม้วนเทปวิดีโอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และปัญหาการทำลายป่าในเมืองไทยหลายสิบม้วน โดยผลงานทั้งหมดสืบเป็นคนถ่ายและตัดต่อเอง 

ผลงานทางวิชาการที่เด่น ๆ ของ สืบ นาคะเสถียร


          - ทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524

          - รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526

          - การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ 2528

          - นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2529

          - รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาด 2529

          - เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ 2529

          - นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดตาก เดือนกุมภาพันธ์ 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธ์ และศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ

          - การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า 2532

          - โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน (Assessment on Report and Impact Assessment Plan on Forestry and Wildlife of Upper Quae Yai Project)

ความพยายามรักษาผืนป่าของ สืบ นาคะเสถียร 


รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

          ในปี พ.ศ. 2529 สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบก็รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายจากการสร้างเขื่อน ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหา และตระหนักว่างานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเหลือป่าและสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้ 

          สืบ นาคะเสถียร จึงเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักอนุรักษ์ เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยสืบยืนยันว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป

          ในปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อม ๆ กับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

          ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบ นาคะเสถียร พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" 


สืบ นาคะเสถียร

การเสียสละชีวิตเพื่อส่วนรวมของ สืบ นาคะเสถียร 


          แม้ว่า สืบ นาคะเสถียร จะตั้งเจตนารมณ์ที่จะรักษาผืนป่าห้วยขาแข้งไว้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่กระนั้นสืบก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจากการดูแลผืนป่าขนาดมากกว่า 1 ล้านไร่ ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์

          ในความคิดของสืบ นาคะเสถียร แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำลายป่าได้ คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา ให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

          จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยปืนหนึ่งนัดในป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร เป็นจุดเริ่มต้นของ "ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก : www.seub.or.th

จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร

ภาพจาก : www.seub.or.th

          หลังจากการเสียชีวิตของสืบ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้และผู้เกี่ยวข้อง ได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้าที่สักครั้ง จนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวหาว่า หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

          ความพยายามของสืบเป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2534 เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด

          การอุทิศตนของสืบ นาคะเสถียร เป็นการปลุกคนให้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาสนใจผืนป่าอย่างจริงจัง วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี จึงเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของท่าน เพื่อให้ทุกคนจดจำ หวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร ...สืบไป

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


          หลังจากการจากไปของสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติต่างนับว่าเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ และไม่อาจปล่อยผ่านไปได้โดยปราศจากความทรงจำ ดังนั้นพวกเขาจึงรวมตัวกันและสืบสานเจตนารมณ์ดี ๆ ของชายผู้แลกชีวิตของเขากับผืนป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงถือกำเนิดขึ้น ..

          การก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากงานพระราชทานเพลิงศพของเขา 10 วัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,448,540 บาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีก 100,000 บาท รวมถึงการบริจาคจากผู้ที่ร่วมรำลึกถึงอีกหลายราย จนกระทั่งได้เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิรวม 16,500,000 บาท

          สัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นรูปกวางผากระโจนเข้าสู่เปลวเพลิง โดยมีใบไม้สีทึบประกอบขึ้นเป็นฉากราตรีประดับดาว ซึ่งออกแบบโดย คุณปัณยา เพื่อนสนิทคนหนึ่งของสืบ นาคะเสถียร เพราะกวางผา คืองานวิชาการชิ้นแรก ๆ ของสืบ นาคะเสถียร และความหมายโดยรวมของสัญลักษณ์ก็คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของสืบ นาคะเสถียร นั่นเอง

          โดยขณะนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของบุรุษผู้ล่วงลับต่อไป แม้ว่าการอนุรักษ์ไว้ซึ่งธรรมชาติจะมีอุปสรรคอย่างยากลำบาก และมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์นี้ แต่คนรุ่นหลังในมูลนิธิก็ยังคงเจริญรอยตามผู้เสียสละอย่างตั้งใจ ..


เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ



ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเฟซบุ๊ก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันสืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน ร่วมรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2567 เวลา 17:06:44 251,426 อ่าน
TOP
x close