ทั้งการบุกรุกและการ "ล่า" ต่างก็ทำให้ชีวิตของสัตว์ป่าไทยต้องเผชิญกับฝันร้าย สัตว์ป่าบางชนิดลดจำนวนลงจนน่าใจหาย จนต้องประกาศเป็น "สัตว์ป่าสงวน" บางชนิดถูกจับมาเพื่อการค้า แล้วกลายร่างเป็นสัตว์ในกรงเลี้ยง ขณะที่บางชนิดต้องจบชีวิตและสูญสิ้นเผ่าพันธุ์อย่างน่าหดหู่ จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้มี "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ"
ประวัติวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในรัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2503 เนื่องจากในช่วงนั้นสัตว์ป่าถูกล่าเป็นจำนวนมากจนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่าในขณะนั้นมีเพียงพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า ร.ศ. 1199 (พ.ศ. 2443) เท่านั้น ยังไม่มีการคุ้มครองสัตว์ป่าอื่น ๆ รัฐบาลในสมัยที่มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 โดยมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ทรงลงนามในพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2503
สำหรับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีความห่วงใยต่อทรัพยากรป่าไม้ พระองค์ทรงให้คำแนะนำและแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์เสมอมา โดยได้เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางประเภทได้ เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้สัตว์ป่าคงอยู่คู่กับโลกต่อไป
กิจกรรมวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
การจัดงานในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ 26 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหน ช่วยกันปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่ตลอดไป รวมทั้งตระหนักถึงความสูญเสียสัตว์ป่าที่ถูกล่า โดยงาน วันสัตว์ป่าแห่งชาติ จะถูกจัดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
- การจัดนิทรรศการ บรรยาย จัดทำเอกสาร แผ่นพับ แผ่นภาพ
- ประกวดคำขวัญ ประกวดภาพถ่าย
- จัดประชุม สัมมนา
- ส่วนกลาง ดำเนินการโดยสำนักสารนิเทศ ร่วมกับสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
- ส่วนภูมิภาค ดำเนินการโดยสำนักงานป่าไม้ทุกเขต
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช