x close

กมธ. ยอมถอย เลิกโครงการใบประกอบวิชาชีพสื่อ แต่มีเงื่อนไข ภาครัฐนั่งในสภาสื่อฯ

กมธ. ยอมถอย เลิกโครงการใบประกอบวิชาชีพสื่อ

         ประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อ ถอยครึ่งทาง ล้มเลิกโครงการใบกระกอบวิชาชีพสื่อ-บทลงโทษ แต่ยันชัด ต้องมีตัวแทนภาครัฐในสภาสื่อฯ ด้านโฆษกสมาคมนักข่าวชี้ ผิดหลักการและแทรกแซงสื่อชัดเจน

         เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะทำการหารือกับคณะกรรมาธิการ ฯ ท่านอื่น ๆ เพื่อเสนอให้ตัดเรื่องการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนคัดค้าน และหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหา
         ส่วนในเรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน โดยให้มีกรรมการจากภาครัฐดำรงตำแหน่ง 2 คนนั้น พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ยังคงยืนยันข้อกำหนดนี้ไว้ เนื่องจากมองว่าความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การทำงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ พร้อมย้ำว่าจำนวนสมาชิกเพียง 2 คน คงไม่มากพอที่รัฐจะทำการแทรกแซงได้ 

         “ที่กังวลกันว่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและขัดต่อความเป็นอิสระของสื่อมวลชนนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการประชุมของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ต้องใช้มติที่ประชุม ซึ่งสัดส่วนของสื่อมวลชนก็มีมากกว่าสัดส่วนของภาครัฐอยู่แล้ว อีกทั้งผลการประชุมก็ต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ พร้อมย้ำว่า การถอนหลักการเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ก็ถือว่าเป็นการเจอกันครึ่งทางแล้ว"   พล.อ.อ.คณิต กล่าว

         ด้านนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกมากล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ถึงแม้ว่า กมธ.จะยอมตัดประเด็นเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพออกไป แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงไม่ไว้วางใจว่าทาง กมธ. จะมีบทบัญญัติใดมารองรับเพื่อให้มีสภาพบังคับและมีบทลงโทษ เนื่องจาก กมธ. ชุดนี้ มีเจตนาที่จะเข้าควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาตั้งแต่ต้น ด้วยการนำร่างฯ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาบิดเบือนเจตนารมณ์จนเกิดการต่อต้านจากสื่อมวลชนและประชาชนมากขึ้น อีกทั้ง พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร ยังกล่าวอ้างว่า มีตัวแทนองค์กรสื่อสนับสนุนให้ออกใบอนุญาตซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและยังพูดกลับไปกลับมาตลอด

         นายปรัชญาชัยกล่าวต่อไปว่า แม้จะตัดบทบัญัติดังกล่าวออก แต่โครงสร้างของกฎหมายก็ยังผิดหลักการ ที่ยังคงให้มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพฯ ไม่ว่าจะมีกี่คนหรือกี่วาระ ก็เทียบเท่ากับว่ารัฐยังคงมีบทบาทในการกำกับควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนอยู่ดี และจะสามารริดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนได้เหมือนเดิม ส่วนที่อ้างถึงความจำเป็นของตัวแทนภาครัฐนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในสภาวิชาชีพอื่น ๆ เช่น สภาทนายความ แพทยสภา ที่ กมธ.ชุดนี้ได้ยกมากล่าวอ้าง ก็ไม่มีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพฯ ดังกล่าวร่วมด้วยแต่อย่างใด สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องมีอิสระและเสรีภาพรองรับในการทำหน้าที่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ตัวแทนรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 

         ส่วนในคำนิยามของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนก็ยังกว้างแบบครอบจักรวาล รุกล้ำไปถึงสื่อดิจิทัล ที่มีรายได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หมายความว่า นอกจากสื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์แล้ว สื่อออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ อินสตาแกรม ฯ ที่มีรายได้ ก็ต้องอยู่ในการควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ด้วย

         “อย่างไรก็ตาม องค์กรวิชาชีพสื่อพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปฏิรูปสื่อเพื่อให้มีกฎหมายรองรับกระบวนการพิจารณาด้านจริยธรรมที่มีสื่อมวลชนและสังคมกำกับ โดยไม่มีตัวแทนภาครัฐ จึงเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน" นายปรัชญาชัย กล่าว

         การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีกำหนดประชุมหารือในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เพื่อให้ถอนร่างฯ ออก และจะรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนและประชาชนอย่างถึงที่สุดต่อไป

ภาพและข้อมูลจาก workpointtv

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กมธ. ยอมถอย เลิกโครงการใบประกอบวิชาชีพสื่อ แต่มีเงื่อนไข ภาครัฐนั่งในสภาสื่อฯ โพสต์เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 เวลา 11:26:50 5,170 อ่าน
TOP