x close

นักศึกษา SAU สุดเจ๋งจัดทำโปรแกรมแอพ Virtual Reality (VR) ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย




นักศึกษา SAU สุดเจ๋งจัดทำโปรแกรมแอพ Virtual Reality (VR)
ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

          รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์แอพลิเคชันบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น IOS, Android หรือหนังสือและงานเขียนต่าง ๆ แต่สื่อที่เป็นเกมโดยเฉพาะระบบ VR มีค่อนข้างน้อย

          VR เป็นนวัตกรรมการประมวลภาพในลักษณะเสมือนจริง กลุ่มผู้พัฒนาจึงนำการพัฒนาเกมท่องเที่ยวเมืองไทยสไตล์ VR โดยใช้เทคโนโลยี VR เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับกับประสบการณ์แปลกใหม่ เช่น ผู้เล่นเสมือนอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวจริง มีภารกิจต่าง ๆ ให้ผู้ได้เล่นปฏิบัติภายในเกมและผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะหยิบจับสั่งของภายในเกมได้ เป็นต้น  เกมท่องเที่ยวเมืองไทยสไตล์ VR พัฒนาโดยเทคโนโลยี 3 มิติ ร่วมกับ VR โดยสร้างผ่านโปรแกรมยูทิลิตี้ เป็นซอฟต์แวร์หลักในการพัฒนา และ 3D MAX ในการสร้างภาพ 3 มิติต่าง ๆ เช่น สิ่งก่อสร้างหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเกมท่องเที่ยวเมืองไทยสไตล์ VR สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ Oculus Rift คือ แว่น VR เพื่อใช้แสดงภาพ 3 มิติเสมือนจริง และ Oculus touch คืออุปกรณ์เซ็นเซอร์ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถหยิบจับสิ่งของภายในเกมได้



          นายเกรียงศักดิ์ เชื่อมสมบัติ นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทีมจัดทำ แอพ "ท่องเที่ยวไทยสไตล์ VR" กล่าวว่า นักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรมแอพลิเคชัน ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายเกรียงศักดิ์ เชื่อมสมบัติ นายนฤเบศน์ ตั้งต้นเจริญ และนายปฐมพงศ์ พุ่มเทียน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์อภิชาติ คำปลิวและอาจารย์ชนินทร เฉลิมสุข เป็นที่ปรึกษา ผลงานชิ้นนี้เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ด้วยภาพหรือวิดีโอเสมือนจริงโดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไทยในยุค Digital Thailand และ Thailand 4.0 โดยการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "ท่องเที่ยวไทยสไตล์ VR" นี้ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 (National Software Contest : NSC 2017)  ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ด้วย



          นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มต้นแนวคิดการเขียนแอพ "ท่องเที่ยวไทยสไตล์ VR" โดยใช้ตัวเองและเพื่อนร่วมทีมเป็นแรงบันดาลใจ โดยทุกคนรักการท่องเที่ยวและชอบความเป็นอิสระ จึงเริ่มลองคัดเลือกสถานที่ท่องเที่ยวมาจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.เขาตะปู จังหวัดพังงา 2.ดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน 3.วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4.เมืองมัลลิกา รศ.124 จังหวัดกาญจนบุรี และ 5.มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ นำมาสร้างเป็นโมเดลจำลองผ่านมุมมองเสมือนจริง โดยมีความชัดเจนของภาพวิวทิวทัศน์ของสถานที่ต่าง ๆ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้งบประมาณ 4 หมิ่นกว่าบาท ประโยชน์ของแอพ "ท่องเที่ยวไทยสไตล์ VR" คือสามารถบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของประเทศไทย นำไปถ่ายทอดผ่านนักท่องเที่ยว ที่สามารถทดลองเล่น ซึ่งระบบแอพ ดังกล่าว จะถูกนำมาจัดแสดงตามงานอีเว้นท์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย ซึ่งในอนาคต จะมีการต่อยอดเพิ่ม Caption บรรยายเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้นด้วย

          สำหรับแอพลิเคชัน "ท่องเที่ยวไทยสไตล์ VR" เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะเสมือนจริง โดยการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยหลักของการใช้งาน ผู้เล่นแอพลิเคชันดังกล่าว จะมองผ่านแว่น 3 มิติ Virtual Reality (VR) และเข้าเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในลักษณะ 3 มิติที่สมจริง สวยงาม ร่วมกับเทคโนโลยี VR ที่ผู้ใช้งานสามารถนำแอพลิเคชันฯ นี้มาใช้งานร่วมกับแว่น 3 มิติ Virtual Reality (VR) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานแอพลิเคชันสามารถท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย เสมือนกำลังเดินอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ นับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่และเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างลงตัว และยังเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งเสริมการเผยแพร่การประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกช่องทางหนึ่ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักศึกษา SAU สุดเจ๋งจัดทำโปรแกรมแอพ Virtual Reality (VR) ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โพสต์เมื่อ 3 พฤษภาคม 2560 เวลา 17:07:27 2,755 อ่าน
TOP