x close

พัฒนา 'กัญชง' สู่พืชเศรษฐกิจ





          กัญชง (Hemp) กัญชา (Cannabis) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน และมีสารสำคัญ 3 ชนิด คือ Tetrahydrocannabinol(THC), Cannabinol(CBN) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่ง THC เป็นสารเสพติดส่งผลต่อระบบสมอง โดยในกัญชงจะมีสาร THC น้อยกว่า 0.3 %แต่ในกัญชาจะมีสาร THC สูง 1-10 % มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท หากเสพต่อเนื่องจะทำให้มีอาการเสพติด ส่งผลอันตรายต่อร่างกายและสมอง

 

          ลักษณะภายนอกของพืชทั้ง 2 ชนิด จะมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่กัญชา ลำต้นเป็นพุ่ม เปลือกลอกยาก ใบจะมีลักษณะเรียวยาว เป็นแฉกประมาณ 5-7 แฉก กัญชงจะมีลำต้นสูงเรียว เปลือกเหนียว ลอกง่าย เหมาะทำเป็นเส้นใย ใบกัญชงมีลักษณะรูปทรงอ้วนแฉกประมาณ 7-9 แฉก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

 

          จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองของกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561) ซึ่งหลังจากกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับแล้วใน 3 ปีแรก (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563) ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถขออนุญาตปลูกได้ ยกเว้นเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้นโดยนำร่องในพื้นที่ควบคุม 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่


-  จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ คือ อำเภอแม่วาง อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอแม่แจ่ม

-  จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ คือ อำเภอเทิง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สาย

-  จังหวัดน่าน 3 อำเภอ คือ อำเภอนาหมื่น อำเภอสันติสุข อำเภอสองแคว
-  จังหวัดตาก 1 อำเภอ คือ อำเภอพบพระ

-  จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ คือ อำเภอหล่มเก่า อำเภอเข้าค้อ อำเภอเมือง

-  และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมือง


วัตถุประสงค์ของการอนุญาตปลูกเพื่อ

          1. ปลูกเพื่อประโยชน์ในครัวเรือน

          2. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ เช่น แปรรูปเป็นเส้นใย ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กระดาษ เป็นต้น

          3. ปลูกสำหรับการศึกษาวิจัย

          4. ผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกตามข้อ 1-3

          5. เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ลำต้นสด

          6. เพื่อใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด

 

          แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะพิจารณาให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชงได้มากขึ้นนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากเส้นใย ไม่ว่าจะเป็นการนำเมล็ดมาใช้เป็นอาหารของคนและนก ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รวมไปถึงชาเพื่อสุขภาพ 

 

          กัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 หากผู้ใดลักลอบผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย และเพื่อเสพกัญชง ก็จะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ยาเสพติดให้โทษประเภท 5

 


ประเภท

ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕

ตัวยาเสพติดที่สำคัญ

พืชกัญชา  พืชฝิ่น  พืชเห็ดขี้ควาย

ข้อหา

อัตราโทษ

ผลิต  นำเข้า  ส่งออก

จำคุกตั้งแต่ ๒ – ๑๕ ปี

และปรับตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐ – ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

จำหน่าย

ครอบครองเพื่อจำหน่าย

จำคุกตั้งแต่ ๒ – ๑๕ ปี

และปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐–๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

ครอบครอง

จำคุกไม่เกิน ๕ ปี

หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เสพ

จำคุกไม่เกิน ๑ ปี

หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐บาท

 


          ทั้งนี้ หลังจาก 3 ปีแล้วรัฐบาลจะพิจารณาเพื่อขยายขอบเขตการปลูก รวมไปถึงพิจารณาให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อทำรายได้พัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนา 'กัญชง' สู่พืชเศรษฐกิจ อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2560 เวลา 17:41:46 1,827 อ่าน
TOP