x close

เปิดปูมเหตุเบื้องหลังคว่ำบาตรกาตาร์ จะเกิดอะไรหลังถูก 7 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์



          ทำความรู้จัก ประเทศกาตาร์ และที่มาที่ไปของการถูกประเทศเพื่อนบ้านตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ชี้ประชาชนได้รับผลกระทบหนักสุด ตั้งแต่อาหารจนถึงการเดินทาง

          การที่ประเทศกลุ่มมหาอำนาจในโลกอาหรับได้แก่ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์นั้น นับว่าเป็นความขัดแย้งร้าวฉานครั้งใหญ่ที่สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อกาตาร์ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ อาหาร การบิน ไปจนถึงเรื่องฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพในปี 2022 (อ่านข่าว : ตึงเครียด 6 ประเทศประกาศตัดสัมพันธ์กาตาร์ ประชาชนซื้อน้ำ-อาหารตุน)

          และเพื่อร่วมติดตามและไขข้อคำถาม ถึงที่มาที่ไปของเหตุดังกล่าว รวมทั้งทำความรู้จักกับประเทศกาตาร์ กันให้มากขึ้น เราจึงได้นำข้อมูลคร่าว ๆ ที่น่ารู้มาฝาก


ประเทศกาตาร์ ดินแดนขนาดเล็กแต่อุดมด้วยก๊าซธรรมชาติ

          กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก รายได้หลักของกาตาร์คือการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน โดยประเทศแห่งนี้ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย มีขนาดพื้นที่ 11,437 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศใต้

ร้าวฉานบานปลาย จนถูกตัดสัมพันธ์การทูต

          ปัญหาความร้าวฉานระหว่างกาตาร์กับประเทศในโลกอาหรับ ที่ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นมีหลายประการ สามารถสรุปเป็นกระเด็นหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้

          1. การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

          ถึงแม้ว่ากาตาร์จะประกาศมาโดยตลอดว่ามีจุดยืนต่อต้านการก่อการร้าย และเป็นไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ มีฐานทัพอากาศอัล อูดีด (Al Uedid Airforce Base) ตั้งอยู่นอกเมืองโดฮา นครหลวงของกาตาร์ ทั้งยังเป็นฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีทหารประจำการอยู่กว่า 10,000 นาย แต่ถึงกระนั้นกาตาร์ก็โดนกล่าวหามาโดยตลอดว่าสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ

          โดยอิรักได้กล่าวหาว่ากาตาร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดหาอาวุธส่งไปให้กลุ่มรัฐไอเอสในซีเรีย และเป็นที่เชื่อกันว่ารัฐบาลกาตาร์มีความใกล้ชิดกับกลุ่มแนวร่วมอัลนุสเราะห์ และกลุ่มอัลเคด้า แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่สุด ปัญหาใหญ่ก็คือข้อกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลาย ๆ ประเทศในโลกอาหรับต่อต้าน ทั้งยังเป็นกลุ่มที่อิยิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของภูมิภาค

          การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมทำให้หลายประเทศมองว่ากาตาร์มีจุดยืนสนับสนุนศัตรู และมันทำให้ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เคยคว่ำบาตรทางการทูตกับกาตาร์มาแล้วในปี 2557


          2. ความสัมพันธ์กับประเทศอิหร่าน

          ก่อนหน้านี้รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย กล่าวหาว่า กาตาร์ให้ความสนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในเมืองกาทีฟ ทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่มีอิหร่านหนุนหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากาตาร์มีท่าทีสนับสนุนอำนาจของอิหร่าน

          กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เนื่องจากซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเป็นประเทศคู่ปรับตลอดกาล อิหร่านเป็นประเทศมุสลิมชีอะห์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียเป็นชาวสุหนี่ และซาอุดีอาระเบียไม่ต้องการให้อิหร่านก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในภูมิภาค


          3. ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เยือนซาอุดีอาระเบีย

          การประกาศคว่ำบาตรกาตาร์เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอแนะให้กลุ่มประเทศอาหรับร่วมมือกันเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย และได้กล่าวโจมตีอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังความไม่สงบสุขที่เกิดขึ้นในตะวันออกลาง

          โดยกรณีนี้ คริสเตียน อุลริคเซน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้วิเคราะห์ไว้ว่า บทบาทอำนาจของอิหร่านและกลุ่มอิสลามที่เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลางได้สร้างความกังวลให้กับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแรงหนุนจากสหรัฐฯ คือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดกับกาตาร์


ผลกระทบกับกาตาร์ หลังถูกตัดสัมพันธ์ทางการทูต

          สำหรับผลกระทบที่กาตาร์จะได้รับหลังจากถูกตัดสัมพันธ์ทางการทูตนั้น มีมากมายหลายด้าน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

          1. พลเมืองกาตาร์ต้องอพยพออกจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และซาอุดีอาระเบียภายใน 14 วัน

          2. กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับที่ยังเป็นพันธมิตรกับกาตาร์ เหลือแค่โอมานกับคูเวตเท่านั้น

          3. ตลาดหุ้นกาตาร์ร่วง 7.3 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารอียิปต์หลายแห่งประกาศยุติการทำธุรกรรมร่วมกับธนาคารในกาตาร์

          4. ประชาชนกาตาร์พากันกักตุนอาหาร เนื่องจากอาหารกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านที่คว่ำบาตรไปแล้ว

          5. สายการบินต่าง ๆ เช่น เอทิฮัด แอร์เวย์ส และสายการบินเอมิเรตส์ ยุติเที่ยวบินที่เดินทางเข้า-ออกกรุงโดฮา และสายการบินของประเทศบาห์เรน อียิปต์ จะเริ่มทยอยยุติเที่ยวบินตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทั้ง 4 ประเทศจะปิดน่านฟ้า ไม่ให้สายการบินของกาตาร์ แอร์เวย์ส บินผ่าน

          6. ประเทศที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ขณะนี้ ประกอบด้วย 7 ประเทศ นำโดย ซาอุดีอาระเบีย ส่วนประเทศอื่น ๆ คือ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เยเมน ลิเบีย และมัลดีฟส์

          ผลกระทบทั้งหมดที่กาตาร์จะได้รับคือเรื่องร้ายแรงอย่างมาก และผู้ที่เดือดร้อนอย่างยิ่งคือประชาชน คาดว่าในเวลาไม่นาน ประชาชนน่าจะออกมากดดันรัฐบาลให้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ข้อมูลจาก bbc.com, reuters.com, theguardian.com, edition.cnn.com, cnbc.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดปูมเหตุเบื้องหลังคว่ำบาตรกาตาร์ จะเกิดอะไรหลังถูก 7 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์ อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2560 เวลา 15:19:30 59,644 อ่าน
TOP