x close

เทคโนโลยี รักษาปัญหาโรคตา ได้จริงหรือ


 
 
           กระบวนการการมองเห็น เริ่มต้นขึ้นเมื่อเรามองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วแสงจากวัตถุนั้นๆ วิ่งผ่านกระจกตา รูม่านตา เลนส์ตา เข้าสู่ภายในลูกตา กระจกตาและเลนส์ตา ซึ่งมีเนื้อโปร่งใส จึงทำให้แสงเกิดการหักเหไปปรากฏเป็นภาพอยู่บนจอตา หลังจากนั้นเซลล์รับแสงซึ่งอยู่ด้านหลังของลูกตาจะส่งข้อมูลที่ได้ ไปตามเส้นประสาทตาเข้าสู่ด้านหลังของสมอง และตีความออกมาเป็นภาพของวัตถุที่เราเห็น

          สาเหตุของสายตาผิดปกติสามารถแบ่งภาวะความผิดปกติทางสายตาออกได้หลายประเภทดังนี้

            สายตาสั้น (Myopia or Nearsightedness) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การที่กระจกตามีความโค้งมากไป ลูกตามีขนาดยาวมากเกินไป หรือกำลังรวมแสงของกระจกตา และเลนส์ตา มีมากเกินไป ทำให้แสงซึ่งควรจะไปโฟกัสพอดีที่จอประสาทตา กลับกระจายตัวและไปโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา ภาพที่เห็นจึงเบลอไม่ชัด

          แต่หากขยับเข้าไปใกล้วัตถุนั้นๆ ภาพก็จะไปโฟกัสบนจอประสาทตาพอดี ด้วยเหตุนี้คนสายตาสั้นจึงมองเห็นชัดเจนในระยะใกล้ๆเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องสวมแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ที่เป็นเลนส์เว้า (ขอบหนา กลางบาง) เพื่อคอยถ่างแสงให้เลื่อนจุดโฟกัสมาตกลงบนจอประสาทตาพอดี

          สายตายาวโดยกำเนิด (Hyperopia or Farsightedness)เกิดจาก กระจกตามีความโค้งน้อยเกินไป หรือลูกตามีขนาดสั้นเกินไป ทำให้จุดโฟกัสซึ่งควรจะไปตกตรงจอประสาทตาพอดี กลับหักเหไปตกด้านหลัง ทำให้ภาพที่เห็นในระยะใกล้ๆไม่ชัดเจน คนสายตายาวจึงจำเป็น ต้องสวมแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ที่เป็นเลนส์นูน (ขอบบาง กลางหนา) เพื่อช่วยหักเหแสงให้ตกพอดีที่จอประสาทตานั่นเอง

          นอกจากนั้น อาการสายตายาวยังสามารถเกิดได้กับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เรียกว่า สายตายาวตามอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแข็งตัวของเลนส์ตา และกล้ามเนื้อตาซึ่งเคยมีความยืดหยุ่นและทำหน้าที่ปรับความโค้งของเลนส์ตาเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวเวลาอ่านหนังสือ และมองเห็นในระยะใกล้ไม่ชัดเจน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสวมแว่นตาเลนส์นูนเวลาอ่านหนังสือ 

          สายตาเอียง (Astigmatism) เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือแทนที่จะกลมเหมือนลูกฟุตบอลกลับยาวรีเหมือนรูปไข่ ซึ่งเมื่อความโค้งของกระจกตาแต่ละด้านไม่เท่ากัน จึงทำให้จุดโฟกัสในการมองเห็นไม่เป็นจุดเดียวกัน คนสายตาเอียงจึงมองเห็นไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และไกล ทั้งนี้สายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นร่วมกับสายตาสั้นและสายตายาว และสามารถแก้ไขได้โดยการสวมแว่นสำหรับคนสายตาเอียง ที่มีการปรับองศาให้มีความพอดีกับดวงตา

          เทคโนโลยีรักษาดวงตา ทางเลือกที่ควรศึกษา

          ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากมาย ทำให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาสามารถรักษาความผิดปกติของตัวเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ก่อนรักษาควรศึกษาถึงความเหมาะสม ความจำเป็น ผลข้างเคียง และค่าใช้จ่ายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาภายหลัง ซึ่งการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ ทำได้หลายวิธีดังนี้

          การสวมแว่นสายตา มีความปลอดภัยสูงสุด มีความคล่องตัวสูง ดูแลรักษาง่าย ผลข้างเคียงน้อยมาก สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ทั้งยังราคาถูกเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้หากเลือกรูปแบบของแว่นสายตาให้เหมาะกับบุคลิก ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้สวมใส่มีความมั่นใจยิ่งขึ้น

           การใช้คอนแทคเลนส์ หรือเลนส์สัมผัส เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีความสะดวก คล่องตัวกว่าแว่นสายตา ทำให้หมดปัญหากรอบแว่นที่เกะกะ และแม้ว่าจะแพงกว่าแว่นตาแต่ก็ให้ภาพที่เป็นธรรมชาติมากกว่า สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายชนิด เช่น ชนิดนิ่ม ชนิดแข็ง ชนิดสวยงาม ชนิดที่สั่งทำพิเศษ และชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

          อย่างไรก็ตาม คอนแทคเลนส์มีข้อจำกัดในการใช้อยู่พอสมควร เช่น ไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะน้ำตาแห้ง (Dry eye) ไม่เหมาะกับการใส่เล่นกีฬาทางน้ำ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องรู้วิธีการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องควบคู่กันไป

           การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (Refractive surgery) เป็นการปรับเปลี่ยนกำลังในการหักเหแสง โดยเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา วิธีการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถสวมแว่นสายตาหรือใช้คอนแทคเลนส์ได้ ซึ่งทำได้โดยการใช้ลำแสงเลเซอร์ชนิดพิเศษชื่อ เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ ( Excimer laser) เข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อพื้นผิวกระจกตา โดยไม่มีผลกระทบต่อเซลล์ข้างเคียง การใช้แสงชนิดนี้ สำหรับแก้ไขสายตาผิดปกตินั้น มีหลายวิธี เช่น

          เทคโนโลยีรักษาปัญหาโรคตาได้จริงหรือ

          การทำเลสิก ( Laser Insitu Keratomoleusis - LASIK) เป็นวิธีผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ สำหรับการรักษาสายตาสั้น แพทย์จะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ สลายเนื้อกระจกตาส่วนกลาง เพื่อทำให้กระจกตาแบนลง และทำให้แสงจากวัตถุไปตกบนจอประสาทตาพอดี ส่วนการรักษาสายตายาวโดยกำเนิด แพทย์จะใช้แสงเลเซอร์ชนิดเดียวกันนี้ สลายเนื้อเยื่อกระจกตาส่วนริม เพื่อทำให้กระจกตาส่วนกลางนูนขึ้น

          และสำหรับการรักษาสายตาเอียง แพทย์จะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ สลายเนื้อเยื่อกระจกตา เพื่อปรับแสงให้กระจกตามีความโค้งมนเสมอกัน ซึ่งหลังจากที่สลายเนื้อเยื่อกระจกตาจนได้ความโค้งเว้าที่เหมาะสมแล้ว ก็จะปิดกระจกตาลงในตำแหน่งเดิม โดยไม่ต้องเย็บแผลหรือฉีดยาชา กระจกตาจะสมานคืนสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง

          หลังการรักษา ผู้ป่วยจะมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าในเวลารวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ มีผลข้างเคียงน้อย เป็นการรักษาสายตาแบบถาวร ที่ไม่ต้องฉีดยาชา และสามารถใช้ร่วมกับการรักษาสายตาแบบอื่นได้ด้วย

          การรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลสิก มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร และอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อยในระยะต้นๆ เช่น เห็นแสงกระจาย หรือเห็นเป็นรัศมีรอบดวงไฟในเวลากลางคืน มองเห็นไม่ชัดเจนในที่มืด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีรูม่านตาใหญ่ หรือสายตาสั้นมากหรือยาวมาก รู้สึกตาแห้ง ระคายเคืองตา แต่อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง หลังจากที่ดวงตาคืนสู่สภาพปกติ

         

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคโนโลยี รักษาปัญหาโรคตา ได้จริงหรือ โพสต์เมื่อ 19 กันยายน 2550 เวลา 00:00:00 5,103 อ่าน
TOP