เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำ ได้เข้ามาแพร่กระจายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงปลาและกุ้งของเกษตรกรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.สมุทรสงคราม สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น กินแพลงก์ตอนพืช ลูกกุ้ง และลูกปลาที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีอัตราการรอดตายสูง
แนวทางระยะสั้น (ดำเนินการอย่างเร่งด่วน)
1. กรมประมงเตรียมจัดโครงการกำจัดปลาหมอสีคางดำ เพื่อลดปริมาณในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง โดยจะมีการรับซื้อปลาชนิดนี้ในช่วงระยะเวลาจำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการกำหนดเงื่อนไข และราคารับซื้อให้เหมาะสม
2. กรมประมงเตรียมปล่อยปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำ เพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำ
3. การประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเพื่อบริโภค
1. กรมประมงเตรียมร่างกฎหมายลำดับรอง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 โดยจะขึ้นบัญชีปลาหมอสีคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด ผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรมประมงมอบหมายให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่น และรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยที่นิยมปล่อยปลาทำบุญ ให้หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้ เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ
ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือประชาชนอย่านำสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้นำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของประเทศได้
ภาพและข้อมูลจาก