x close

สธ. ยันพยาบาลไม่ใช่จำเลย ปมดราม่าเกิดอุบัติเหตุบนรถส่งต่อ แต่ไร้การเหลียวแล

 

               ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจงยิบถึงข้อเท็จจริงกรณี พยาบาลดราม่าเกิดอุบัติเหตุบนรถส่งต่อผู้ป่วย แต่ไร้การเหลียวแลจากทางผู้ใหญ่  ยืนยันไม่ใช่จำเลย ชี้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.บัตรทอง สูงสุด 1 แสนบาท

              จากกรณีเพจ แหม่มโพธิ์ดำ เผยเรื่องราวร้องทุกข์ของพยาบาลท่านหนึ่งถึงเหตุการณ์ที่ตัวเธอบอกว่าตัวเองตกเป็นจำเลยจากการเกิดอุบัติเหตุกับรถส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย เหตุการณ์ผ่านมา 2 เดือน ทั้งที่ตนบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยาจากกระทรวงสาธารณสุข



             ล่าสุด (13 สิงหาคม 2560) มีรายงานว่า นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า กล่าวว่า กรณีนี้พยาบาลไม่ได้เข้าข่ายเป็นจำเลยแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของโรงพยาบาลมุกดาหาร พบว่าคนขับรถเกิดจากเหตุสุดวิสัย และอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องประกันที่ทำเป็นชั้น 1 ซึ่งทาง สธ. สั่งให้รถพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งต้องทำประกันชั้น 1 ทั้งหมด พร้อมทั้งติด GPS เพื่อติดตามความเร็วในการขับรถ รวมทั้งคนขับต้องผ่านการอบรมด้วย



              ดังนั้นยืนยันว่าพยาบาลทั้ง 2 ท่าน ถือว่าได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติหน้าที่จนทำให้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (สปสช.) กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องสูงสุด 100,000 บาท ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินต้องทำเรื่องไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาในพื้นที่นั้น ๆ แต่ต้องใช้เวลานาน 1-2 เดือน

              ด้าน รศ. คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 เผยผลตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเกิดอุบัติเหตุ ว่า เบื้องต้นพบว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งทางโรงพยาบาลต้นสังกัดได้เบิกเงินช่วยเหลือทำขวัญเบื้องต้นคนละ 5,000 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลเบิกได้จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อีกทั้งโรงพยาบาลมุกดาหารได้ให้การดูแลรักษาตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยให้รักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายดีและสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้




             ส่วนเงินค่าเสียหายที่ทำให้ได้รับการบาดเจ็บ และเสียชีวิต สามารถเรียกร้องจากประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 (ประกันชั้น 1) ซึ่งขั้นตอนดำเนินการอยู่ระหว่างนัดเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ต่อหน้าเจ้าพนักงานเจ้าของคดี ที่ สภ.เลิงนกทา อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ระหว่างผู้เสียหาย และเจ้าของบริษัทประกันภัย คาดว่าจะได้ข้อยุติโดยเร็ว

              ส่วนกรณีพยาบาลผู้ประสบเหตุที่พักรักษาตัวและทำให้ขาดรายได้ ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ยืมเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 15,000 บาท และจะพิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไปหลังจากที่ได้ข้อยุติจากการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย เรียบร้อยแล้ว

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก แหม่มโพธิ์ดำ, กระทรวงสาธารณสุข
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ยันพยาบาลไม่ใช่จำเลย ปมดราม่าเกิดอุบัติเหตุบนรถส่งต่อ แต่ไร้การเหลียวแล โพสต์เมื่อ 13 สิงหาคม 2560 เวลา 16:44:26 9,220 อ่าน
TOP