x close

กรมป่าไม้คุมเข้ม ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา

ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา

            เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 มีรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บริเวณศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 3 บ้านวังกระบาก นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า และหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ลงพื้นที่ร่วมกับ กอ.รมน. ฝ่ายทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายและการควบคุมการกรีดยางพาราต่อกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

            นอกจากนั้น ภารกิจในครั้งนี้ก็ยังมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับชุมชนถึงมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 รวมทั้งแผนปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภายใต้การนำของพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            นายชลธิศ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2558

            จากการตรวจสอบพบว่า ในภาคเหนือมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ถึง 32,450,386 ไร่ ถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราจำนวน 696,674 ไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดพิษณุโลกนั้นแม้จะมีพื้นที่ป่าจำนวน 1,356,493 ไร่ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าอีกหลายจังหวัดในภูมิภาคเดียวกัน แต่กลับถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราถึง 158,615 ไร่
            นายชลธิศ ระบุว่า เมื่อเรานำพื้นที่การปลูกยางพารามาคิดเปรียบเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีอยู่จะพบว่า  พื้นที่ป่าในจังหวัดพิษณุโลกถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราในอัตราสูงที่สุดในภาคเหนือถึงร้อยละ 11.7  โดยคาดว่าเป็นการบุกรุกของกลุ่มนายทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ 

ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา

            ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจยึดดำเนินคดีแล้วจำนวน 23,173 ไร่ และรื้อถอนตามมาตรา 25 แล้วจำนวน 4,394 ไร่ รวมทั้งดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ตัดฟันแล้วจำนวน 3,109 ไร่ สำหรับแปลงที่เข้าดำเนินการในครั้งนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขากระยาง ท้องที่บ้านเกษตรสุข ม.5 ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแปลงของกลุ่มนายทุนที่ได้ดำเนินการตรวจยึดไว้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 เนื้อที่จำนวน 113 ไร่  

            สำหรับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการตรวจยึดไว้นั้น นอกจากที่กรมป่าไม้จะเร่งดำเนินการตามมาตรา 25  และปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแล้ว ยังกำหนดมาตรการเชิงรุกในการควบคุมการกรีดยางพาราและการผลิตน้ำยางของกลุ่มนายทุนในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกด้วยเพื่อปกป้องพื้นที่ป่าไม่ให้ถูกทำลายซ้ำอีก  

            "ผมขอยืนยันว่านโยบายการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลจะใช้ดำเนินการกับกลุ่มนายทุนเท่านั้น ส่วนประชาชนผู้ยากไร้ที่ไร้ที่ทำกิน รัฐบาลมีนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งขณะนี้มีเป้าหมายที่จะจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กว่า 700,000 ไร่ ทั่วประเทศ" อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

            นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้กล่าวย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนถึงการบังคับใช้กฎหมายของกรมป่าไม้ว่า ขั้นตอนแรก กรมป่าไม้ต้องตรวจสอบว่าพื้นที่นั้น ๆ เข้าข่ายลักษณะนายทุนหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาลักษณะการบุกรุกพื้นที่ป่า 7 ข้อด้วยกัน ดังนี้

            1)  มีเนื้อที่บุกรุกตั้งแต่ 25 ไร่ ขึ้นไป 
            2)  หากมีขนาดน้อยกว่า 25 ไร่ แต่มีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะกลุ่มทุนจากต่างถิ่น เช่น มีการสร้างบ้านพักตากอากาศราคาแพง หรือมีวัตถุประสงค์อื่น ๆ ได้แก่ การมุ่งหวังพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นบ้านพักตากอากาศ โรงแรม หรือรีสอร์ท 
            3)  เป็นเจ้าของสวนยางพาราหลายแปลง 
            4)  เจ้าของสวนยางพาราเป็นนายทุนต่างถิ่นมาจ้างแรงงานในพื้นที่หรือคนท้องถิ่นให้ดำเนินการแทน 
            5)  สวนยางพารามีขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างหรือที่พักอาศัยและระบบการจัดการที่มีการลงทุนสูงในรูปแบบเชิงธุรกิจ  
            6)  ชาวบ้านในพื้นที่หรือผู้นำท้องถิ่นยืนยันว่าเจ้าของเป็นคนต่างถิ่นและไม่ใช่ผู้ยากไร้/ไร้ที่ทำกิน
            7)  ในกรณีเป็นผู้ยากไร้ต่างถิ่น แต่มีที่ดินทำกินอยู่ในภูมิลำเนาเดิมเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ  ดังนั้น  ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้กังวลในมาตรการดังกล่าว

ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา

            ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร)  เปิดเผยถึงแผนปฏิบัติการเชิงรุกในการควบคุมการกรีดยางพาราและการผลิตน้ำยางของกลุ่มนายทุนในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่า จะเริ่มจากการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับชุมชน เพื่อให้เป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่เมื่อเกิดกรณีที่กลุ่มนายทุนหรือบุคคลอื่นใดกลับเข้าไปกรีดยางหรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ได้ตรวจยึดดำเนินคดีไปแล้ว ทำงานไปพร้อม ๆ กับการเร่งรัดการตรวจยึดแปลงยางพาราของกลุ่มนายทุนให้ได้ตามเป้าหมาย และเร่งรัดรื้อถอนตามมาตรา 25 นอกจากนี้ ยังต้องเร่งดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าให้ฟื้นคืนสภาพของความเป็นป่าโดยเร็ว

            นายชีวะภาพ ยังกล่าวถึงพื้นที่แปลงยางพาราที่ได้ดำเนินการตามมาตรา 25 ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังทองฝั่งซ้าย ท้องที่บ้านตอเรือ ม.13 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ว่า มีพื้นที่รวมจำนวน 1,171 ไร่ แบ่งเป็น 3 แปลง ประกอบด้วย 

            1)  แปลง 287.38 ไร่ ตรวจยึดตามคดีที่ 383/2550 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2550 ดำเนินการรื้อถอนตามมาตรา 25 เมื่อระหว่าง 4 - 9 มิถุนายน 2558 
            2)  แปลง 94 ไร่ ตรวจยึดตามคดีที่ 40/2550 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ดำเนินการรื้อถอนตามมาตรา 25 เมื่อระหว่าง 12 - 18 สิงหาคม  2558
            3) แปลง 790.33 ไร่ ตรวจยึดตามคดีที่ 822/2556 ลงวันที่ 12 กันยายน 2556 ดำเนินการรื้อถอนเมื่อระหว่าง 12 - 18 สิงหาคม 2558  

            "เราได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูไปแล้วจำนวน 1,150 ไร่ ขณะนี้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบนิเวศโดยรอบกลับมาฟื้นคืนความสมบูรณ์อีกครั้ง" หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ระบุ

ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา

ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมป่าไม้คุมเข้ม ปราบแก๊งนายทุนกรีดยางพารา อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2560 เวลา 11:46:35 4,887 อ่าน
TOP