"รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ โดยรวบรวมเอาต้นไม้ทรงคุณค่าจากสถานที่ต่าง ๆ ทุกภูมิภาค รวมแล้ว ๖๕ ต้น ซึ่งเท่ากับพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน มาจัดพิมพ์เพื่อเป็นความรู้ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป
กว่าจะได้ต้นไม้ทรงคุณค่า ๖๕ ต้น นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปินแห่งชาติ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ดำเนินการรวบรวมข้อมูลต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ อายุกว่า ๑๐๐ ปี และมีความสำคัญจากทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า ๕๐๐ ต้น และคัดเลือกให้เหลือเพียง ๖๕ ต้น
หากจะถามว่า เหตุใดถึงเป็น "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" ก็เพราะว่าในสังคมไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมความรักและความศรัทธาของคนทั้งชาติ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเสมือนเป็นร่มไม้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความหวังว่า "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนมีใจรัก หวงแหนธรรมชาติ อันเป็นบ่อเกิดแห่งความรักความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้ด้วย เพราะต้นไม้แต่ละต้นมีตำนาน มีเรื่องราว สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา ตลอดช่วงเวลาที่ต้นไม้นั้นได้ยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน
ติดตามอ่าน "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" ได้จาก E-book ที่ถือว่าอ่านง่ายสุด ๆ เปิดอ่านได้เพียงแค่คลิก หน้าหนังสือก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราต้องการ แถมภาพยังมีสีสันที่สวยงาม...น่าสนไม่น้อยเลยทีเดียว ย้ำ ! ย้ำ ! หนังสือเล่มนี้ไม่มีจำหน่าย แต่สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือหากได้เดินทางไปเยี่ยมชมต้นไม้ ๖๕ ต้นในสถานที่จริง สามารถสแกน QR Code ที่ป้ายชื่อต้นไม้นั้น ๆ เพื่ออ่านข้อมูลของแต่ละต้นได้ทันที สะดวก รวดเร็วจริง ๆ
ตัวอย่างต้นไม้ ที่เผยแพร่ อยู่ใน "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี"
- ยางนาร่มมงคล จังหวัดเชียงใหม่
ต้นยางสูงตระหง่านงาม ลำต้นสีน้ำตาลสูงตรง และปลายเป็นพุ่มครึ้มเขียว โดดเด่นเป็นสง่าอยู่เคียงข้างหอมณฑปเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ดุจเป็นร่มมงคลให้เสาหลักเมือง วัดเส้นรอบวงต้นได้ ๙ เมตร ความสูงถึง ๓๐ เมตร และเป็นหมุดหมายสำคัญบ่งบอกถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองเชียงใหม่
ปัจจุบันด้วยความสูงใหญ่และอายุยืนยาวของต้นยางกว่า ๒๐๐ ปี ประชาชนจึงให้ความนับถือและนิยมนำไม้มาค้ำตามความเชื่อที่ว่า ไม้ใหญ่มักจะมีเทพเทวาสถิต หากผู้ใดได้นำไม้มาค้ำต้นไม้ไว้เสมือนกับช่วยประคองดวงชะตาให้เจริญและมั่นคง
ยางนาร่มมงคล จังหวัดเชียงใหม่
- ต้นจามจุรียักษ์ จังหวัดเชียงใหม่
สโมสรเชียงใหม่ยิมนาคา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสโมสรสนามกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณหน้าสโมสรมีต้นจามจุรีต้นหนึ่งยืนต้นมายาวนาน มีขนาดเส้นรอบวง ๙ เมตร ความสูง ๑๙ เมตร มีลักษณะลำต้นแผ่ขยายแตกกิ่งก้านสาขาไปโดยรอบ งามตระการตา ได้รับรางวัลจากการประกวดต้นไม้ใหญ่จากเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วย
ปัจจุบัน จามจุรียักษ์ต้นนี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนเชียงใหม่ และกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเชียงใหม่
จามจุรียักษ์ จังหวัดเชียงใหม่
- ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี
ต้นชะโนด เป็นไม้ตระกูลปาล์ม พบได้ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และแหลมปลายสุดของทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยกลับเป็นพืชที่หายาก โดยแหล่งที่มีชะโนดมากที่สุดอยู่ในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในสถานที่ที่เรียกว่า ป่าคำชะโนด ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตำนานพญานาค ปู่ศรีสุทโธ ศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวบ้านอำเภอบ้านดุง
ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี
ต้นชะโนด จังหวัดอุดรธานี
- ต้นหว้าน้ำคู่รัก จังหวัดอุบลราชธานี
ต้นหว้าน้ำ หรือ หมากหว้าน้ำ สองต้นยืนโดดเด่นเคียงกันกว่า ๓๐๐ ปี ณ ลานหินทราย ริมฝั่งโขงบ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี สร้างปรากฏการณ์ "ความรักอมตะหมากหว้าน้ำ"
ต้นหว้าน้ำคู่รัก จังหวัดอุบลราชธานี
- ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย จังหวัดตรัง
ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอกันตัง มียางพาราต้นใหญ่ อายุกว่า ๑๑๖ ปี เห็นโดดเด่นเป็นสง่าเป็นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ที่คอยต้อนรับและสร้างความประทับใจแรกแก่แขกเมืองผู้มาเยือน
ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย จังหวัดตรัง
- มเหสักข์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ต้นสักอายุกว่า ๑๕๐๐ ปี ใหญ่ที่สุดในโลก ยืนตระหง่านอยู่ในอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อต้นสักนี้ว่า "ต้นมเหสักข์"
มเหสักข์ ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก จังหวัดอุตรดิตถ์
- ตะเคียนนางไม้ จังหวัดพิจิตร
ณ วัดหงส์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร มีต้นตะเคียนใหญ่ยักษ์ ยืนต้นอยู่ทางทิศเหนือของวัดห่างจากฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่านประมาณ ๕๐๐ เมตร ว่ากันว่ามีอายุราว ๔๐๐ ปี แต่เดิมเรียก "ต้นแม่โหงแม่นาง" เพราะเชื่อกันว่ามีนางไม้สถิต
ตะเคียนนางไม้ จังหวัดพิจิตร
- ต้นโพธิ์ล้อมโบสถ์ จังหวัดอ่างทอง
ณ โบสถ์วัดสังกระต่าย จังหวัดอ่างทอง มีโพธิ์ขนาดใหญ่ ๔ ต้น ขึ้นปกคลุมรอบโบสถ์ แผ่รากชอนไชประสานกันทั้งภายนอกและภายใน ยึดผนังโบสถ์โบราณไว้อย่างแน่นหนา และงดงาม ลำต้นแตกแขนงกิ่งก้านให้ร่มเงาเสมือนทำหน้าที่แทนหลังคาโบสถ์ที่ผุพังไปตามกาลเวลา สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง คาดว่าทั้งดบสถ์และต้นโพธิ์ ๔ ต้น น่าจะมีอายุประมาณ ๔๐๐ ปี
โพธิ์ล้อมโบสถ์ จังหวัดอ่างทอง
- กลุ่มต้นชมพูภูคาแสนงาม จังหวัดน่าน
ชมพูภูคา เป็นพรรณไม้แห่งความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดน่าน เพราะเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งยังได้รับพระกรุณามหาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
กลุ่มต้นชมพูภูคาแสนงาม จังหวัดน่าน
- ต้นจันทน์หอม
ณ อุทยานแห่งชาติกรุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีไม้จันทน์หอมขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก มีลักษณะสมบูรณ์ ลำต้นสุงใหญ่กว่า ๓๐ เมตร แตกใบเขียวชอุ่ม
ต้นจันทน์หอมเป็นไม้ขนาดใหญ่ ที่มีค่าหายากและเมื่อยืนต้นตายตามธรรมชาติจะให้กลิ่นหอม จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงที่มักใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระศพพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง โดยนำมาใช้ ๒ ส่วน คือ การทำพระโกศไม้จันทน์ และการใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงหรือฟืน
กลุ่มต้นจันทน์หอมสูงค่า จ.ประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มต้นจันทน์หอมสูงค่า จ.ประจวบคีรีขันธ์