ความเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ "ต้นไม้" และ "พื้นที่สีเขียว" ลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินทางด้านอื่น เช่น เศรษฐกิจ คมนาคม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในเมืองและชุมชนเสื่อมโทรมลง อากาศร้อนขึ้น มลพิษต่าง ๆ มากขึ้น
การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือ การปลูกต้นไม้เพิ่ม จะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ได้ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และช่วยเพิ่มออกซิเจนในอากาศ ลดโลกร้อน
"ป่านิเวศ" เป็นป่าที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยเลียนแบบโครงสร้างป่าธรรมชาติด้วยการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดคละกัน เพื่อเร่งการเจริญเติบโต การปลูกป่านิเวศ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมืองและชุมชน ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้กลยุทธ์และกลไกที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
สอดคล้องกับภารกิจของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายหลักให้ประชาชนและภาคีร่วมพัฒนา เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ประกอบกับเพื่อบรรลุตามนโยบายรัฐบาลในประเด็นเรื่อง การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้
ล่าสุด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจัดโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบป่านิเวศ (Eco-Forest) โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ณ บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
โครงการดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมทั้งมอบ "กล้าไม้" ส่งต่อแนวคิดการปลูกป่านิเวศสู่เมืองและชุมชน โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อขยายแนวคิด สร้างพื้นที่เครือข่ายป่านิเวศ สู่พื้นที่ต่อไปในจังหวัดอุบลราชธานีและร่วมปลูกป่านิเวศ (Eco-Forest) ในพื้นที่ชุมชนบ้านโนนสูง จำนวน 10 ไร่ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ ที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกไผ่ใหญ่ เทศบาลเมืองชุมเห็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายปริญญา โพธิสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดโครงการ
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ก็เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในเมืองเข้าสู่มาตรฐานในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (ภาครัฐ/เอกชน/ประชาชน) และขยายผลการพัฒนาการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบป่านิเวศ (Eco Forest) สู่เมืองและชุมชนทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชน ตลอดจนเป็นการสร้างจิตสำนึก ความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแล รักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี