พล.อ. ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ฉลองวันพระราชทานธงชาติไทยครบรอบ 100 ปี ประวัติศาสตร์ธงไตรรงค์ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน
วันที่ 28 กันยายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทยและครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมในพิธีนี้ด้วยตั้งแต่เวลา 07.45 น. โดย พล.อ. ประยุทธ์ รับการเคารพจากหมู่เชิญธง และมอบธงชาติไทยแก่หัวหน้าชุดหมู่เชิญธง ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ธงชาติไทย หรือ ธงไตรรงค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานธงไตรรงค์ ให้เป็นธงชาติของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460
ความหมายของธงชาติไทย
ธงชาติไทย หรือ ธงไตรรงค์ ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้งสองข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อย ๆ จึงได้กำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจน แต่ก็ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ด้วย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน)
สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ซึ่งความหมายนี้ ก็ใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติม : วันธงชาติไทย 28 กันยายน ประวัติธงชาติไทย)
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @Sorathan_News
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กรมการทหารช่าง, หอมรดกไทย, รัฐบาลไทย, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย, สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี