ธงชาติ เป็นสัญลักษณ์สำคัญอันแสดงถึงความเป็นชาติของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานานนับร้อยปีแล้ว โดยมีวิวัฒนาการเรื่อยมา กระทั่งเป็น "ธงไตรรงค์" สีแดง ขาว น้ำเงิน ดังเช่นปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ธงชาติไทย ในแต่ละยุคสมัยมีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นที่คนรุ่นหลังควรศึกษาและเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น "วันพระราชทานธงชาติไทย" (Thai National Flag Day) เพื่อระลึกถึงความเป็นมาของธงชาติไทย โดยเริ่มปีแรกในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 ดังนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนดูจุดกำเนิดของธงชาติไทยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
ประวัติธงชาติไทย
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้จะใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ทว่าสำหรับเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงกันอยู่ และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
โดยในยุคนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงเพิ่มขึ้นด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกมา 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่กึ่งกลาง
ถัดมาในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ. 2398 พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าฯ ให้นำเอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง และยกเลิกการใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอีกต่อไป
กระทั่งมาถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทย โดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา และออกประกาศบังคับใช้ธงชาติผืนนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป
และในปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้งเพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้าย ๆ กับธงชาติของประเทศอื่น ๆ ในช่วงนั้น โดยเป็นธงพื้นริ้วขาว แดง แต่ก็ได้เพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปด้วยอีกสีหนึ่ง เพราะสีน้ำเงินถือเป็นสีประจำพระองค์ ซึ่งธงในปี 2460 ก็คือธงไตรรงค์ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง (มีการปรับขนาดเล็กน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8)
ความหมายของธงชาติไทย
ธงชาติไทย หรือ ธงไตรรงค์ ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อย ๆ จึงได้กำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจน แต่ก็ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ด้วย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน)
สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ซึ่งความหมายนี้ก็ใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญของธงชาติไทย
ธงชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติของประเทศต่าง ๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสีที่แตกต่างกันออกไป แต่บางที่ก็มีคล้ายกันบ้าง โดยประเทศไทยใช้ธงไตรรงค์ หรือ ธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีความเป็นไทย อีกทั้งยังมีความหมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงถือได้ว่าธงชาติไทยนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ ต้องได้รับความเคารพ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ
วิวัฒนาการธงชาติไทย
1. ธงพื้นแดงเกลี้ยง (สมัยอยุธยา - พ.ศ. 2398)
จากข้อมูลที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ที่เชิงอรรถแห่งหนึ่งของหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะเห็นได้ว่า ธงชาติไทยผืนแรกเป็นธงพื้นสีแดงเกลี้ยง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ในการติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเริ่มใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2398
2. ธงพื้นแดง มีรูปวงจักรสีขาวตรงกลาง (พ.ศ. 2325-2360)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรเป็นสีแดงเหมือนกัน จึงให้เพิ่มรูปจักรสีขาว อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ลงบนธงสีแดงสำหรับปักเรือหลวง และใช้ธงแบบนี้กระทั่งปี พ.ศ. 2360
3. ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกอยู่ข้างในวงจักรสีขาวตรงกลาง (พ.ศ. 2360-2398)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระบรมราชโองการให้นำรูปช้างเผือกไปเพิ่มไว้ข้างในวงจักรสีขาวของเรือหลวงด้วย โดยใช้ธงนี้จนถึงปี พ.ศ. 2398
4. ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง (พ.ศ. 2398-2459)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้นไม่เป็นที่สังเกตและเหมือนกับธงชาติอื่น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนรูปแบบธง โดยนำเอาจักรสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินออก ธงที่ใช้สำหรับเรือสินค้าของราษฎรจึงเป็นธงพื้นแดง มีช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลางธงเท่านั้น ส่วนธงของเรือหลวงก็เปลี่ยนเป็นธงสีขาบ (สีน้ำเงินอมม่วง) แทน ดังนั้น ธงสีแดงซึ่งมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นธงชาติไทยนับแต่นั้น จนถึงรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปี พ.ศ. 2459)
5. ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนบนแท่น หันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง (พ.ศ. 2459-2460)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระราชดำริให้แก้ไขรูปช้างเผือกธรรมดา เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าหาเสาธงแทน และใช้ธงผืนนี้จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460
6. ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังเมืองอุทัยธานี ได้ทอดพระเนตรเห็นธงช้างที่ราษฎรติดไว้กลับหัว จึงมีพระราชดำริว่าธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริว่าธงชาติทำยาก ที่ขายตามท้องตลาดนั้นเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปช้างออกจากธงชาติ เปลี่ยนเป็นแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับสีขาว 2 แถบ เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว ใช้สำหรับเป็นธงค้าขาย ส่วนธงชาติที่ใช้ในราชการจะเป็นรูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น
7. ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2460 เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายกับธงชาติของประเทศอื่น ๆ คือ มี 3 สี ฉะนั้นธงชาติไทยจึงเปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี มีแถบสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง เรียงกันลงไป โดยแถบสีแดงและสีขาวมีขนาดเท่ากัน ส่วนแถบสีน้ำเงินจะมีขนาดใหญ่กว่าสีทั้งสอง 1 ส่วน
โดยหลังจากนั้นในปีพุทธศักราช 2479 สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ โดยอธิบายลักษณะธงชาติไว้ว่า ธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบออกไปทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง
อย่างไรก็ตาม ลักษณะของธงชาติไทยในปัจจุบันปรากฏตามความในหมวด 1 มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดไว้ว่า ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน อย่างที่เราเห็นธงไตรรงค์แห่งชาติไทย ณ ปัจจุบันนั่นเอง
ความเป็นมาของวันพระราชทานธงชาติไทย
เพื่อระลึกถึงความสำคัญของธงชาติไทย และน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 จึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นปีแรก
ทั้งนี้ สาเหตุที่เลือกวันที่ 28 กันยายน เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย เพราะเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 เพื่อเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ดังเช่นปัจจุบัน และที่กำหนดให้วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นวันพระราชทานธงชาติไทยปีแรก เนื่องมาจากเป็นวันที่ครบรอบ 1 ศตวรรษของการประกาศใช้ธงไตรรงค์นั่นเอง แต่ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ
กิจกรรมที่ทำในวันพระราชทานธงชาติไทย
ถึงแม้จะไม่เป็นวันหยุดราชการ แต่ก็มีการกำหนดให้หน่วยงานราชการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันพระราชทานธงชาติไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ
อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) เพื่อรวมพลังแสดงความรักชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ที่ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมจะมีการเชิญธง การโบกธง การแปรอักษรภาพประกอบดนตรีดุริยางค์ ซึ่งกิจกรรมภายในงานทั้งหมดได้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
วันสำคัญที่ต้องชักธงและประดับธงชาติ
นอกจากในวันพระราชทานธงชาติไทยแล้ว ธงชาติไทยยังมีการใช้ในวันสำคัญต่าง ๆ ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ได้ระบุไว้ให้ใช้ในโอกาสและวันพิธีสำคัญ ดังนี้
- วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 1 วัน
- วันมาฆบูชา 1 วัน
- วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เมษายน 1 วัน
- วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน 1 วัน
- วันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 1 วัน
- วันพืชมงคล 1 วัน
- วันวิสาขบูชา 1 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 1 วัน
- วันอาสาฬหบูชา 1 วัน- วันเข้าพรรษา 1 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 และ 29 กรกฎาคม 2 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม 1 วัน
- วันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน 1 วัน
- วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 1 วัน- วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 และวันที่ 6 ธันวาคม 2 วัน
- วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 1 วัน
อย่างไรก็ตาม ทางราชการจะประกาศวันสำคัญที่ต้องชักธง และประดับธงชาติ ให้ทราบเป็นครั้งคราวไป
การลดธงครึ่งเสา
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ
บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณภาพจาก : กรมการทหารช่าง, หอมรดกไทย, รัฐบาลไทย, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย, สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ