16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย วันที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก ร่วมเชิดชูวีรบุรุษผู้คืนสันติภาพสู่ประเทศไทย
อาจจะจริงตามคำกล่าวที่ว่า
โลกไม่เคยขาดแคลนสงคราม แต่สิ่งที่เข้ามายุติสงครามในทุกครั้งนั่นคือ
สันติภาพ
เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ออกมาต่อสู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอย และได้มีการประกาศสันติภาพภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่
2 โดยเรียกวันนั้นว่า "วันสันติภาพไทย"
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ไทยได้จารึกไว้
แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อในยุคหลัง ๆ คนส่วนใหญ่ทราบเพียงว่า ทุก ๆ
วันที่ 16 สิงหาคม เป็น "วันสันติภาพไทย" เพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว
วันสันติภาพไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบ
วันสันติภาพไทย คืออะไร
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
นาย
ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
(รัชกาลที่ 8)
ได้ออกประกาศสันติภาพพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ ถือเป็นโมฆะ
หรือเรียกได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชอธิปไตย แสดงจุดยืนแห่งความเป็นกลาง
มีอิสรภาพ โดยมี นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี
เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นสงครามอันแสนดุเดือด ร้ายแรง
มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้กว่า 18 ล้านคนทั่วโลก
แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้จุดชนวนสงคราม
แต่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในวิกฤตการณ์สงครามครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
หากในวันนั้นไม่มีกลุ่ม "ขบวนการเสรีไทย" ซึ่งนำโดย นายปรีดี พนมยงค์
ผู้เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ออกมาต่อสู้ กอบกู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอย
ภายใต้อุดมการณ์รักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยไว้ให้ได้
ประเทศไทยก็คงจะไม่กลับมามีความสงบสุข
และไม่ถูกยึดครองดินแดนดังเช่นในทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย
ชนรุ่นหลังจึงได้ถือเอาวันประกาศอิสรภาพดังกล่าวจารึกเป็น
"
วันสันติภาพไทย"
โดยจะมีการจัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี
งานรำลึกขบวนการเสรีไทย
เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ
คุณงามความดีอันแสนยิ่งใหญ่ของขบวนการเสรีไทย ในวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี
จึงได้มีการจัดงานวันสันติภาพไทย อีกนัยหนึ่งคือ
เพื่อไม่ให้เรื่องราวสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยกลืนหายไปกับกาลเวลา
อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้ประชาชน รวมไปถึงเยาวชนรุ่นหลัง มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นอยู่ร่วมกันด้วยความสันติ
มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก :
polsci.tu.ac.th,
lib.ru.ac.th