15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะ และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อ่าน ประวัติ ศิลป์ พีระศรี พร้อมผลงานต่าง ๆ ของบิดาแห่งวงการศิลปะ
และเราก็ไม่พลาดที่จะอาสาพาทุก ๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย
ประวัติ ศิลป์ พีระศรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)
สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย
เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา
จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ "โรงเรียนศิลปากร" ขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486
โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น
และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ไม่ได้มีผลงานทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นที่จดจำของเหล่าลูกศิษย์ เพราะมีหลาย ๆ ครั้งที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จะหยิบยกคำสอนมาคอยเตือนใจลูกศิษย์ของตัวเอง โดยเฉพาะประโยคที่ว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน
ผลงาน ศิลป์ พีระศรี
- รูปคนเหมือนเฉพาะศีรษะ
- รูปพระเยซูคริสต์ถูกนำลงมาจากไม้กางเขนนอนบนแผ่นหิน
- อนุสาวรีย์ขนาดใหญ่รูปเทพเจ้าต่าง ๆ
ผลงานประติมากรรมที่ทำในประเทศไทย รูปเหมือนบุคคล
- สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เฉพาะพระเศียร) สำริด
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระเศียร)
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครึ่งพระองค์) ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2 องค์ ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์
- พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประติมากรรมนูนต่ำ ปูนปลาสเตอร์ หอศิลป์แห่งชาติ
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครึ่งพระองค์) ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส (ครึ่งองค์) กรมศิลปากร
- พระญาณนายก (ปลื้ม จันโทภาโส มณีนาค) วัดอุดมธานี นครนายก ประติมากรรมนูนสูง ปูนพลาสเตอร์
- หลวงวิจิตรวาทการ (ครึ่งตัว) ปูนปลาสเตอร์ กรมศิลปากร
- ม.ร.ว.สาทิศ กฤดากร (เฉพาะศีรษะ) บรอนซ์ เจ้าของ ม.จ.รัสสาทิศ กฤดากร
- นางมาลินี พีระศรี (เฉพาะศีรษะ) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรุงเทพฯ
- Romano (ลูกชาย ภาพร่างไม่เสร็จ) กรมศิลปากร
- นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) บรอนซ์ หอศิลปแห่งชาติ
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมเสียก่อน)
ผลงานประเภทอนุสาวรีย์
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประดิษฐาน ณ พระปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ
- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา
- อนุสาวรีย์พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขนาด 3 เท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ
- อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี กรุงเทพฯ
- อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐาน ณ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
- พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล (องค์ต้นแบบ) นครปฐม
- ประติมากรรมรูปปั้น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ
และยังมีโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จอีก คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลพบุรี เป็นต้น
คำสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"
"อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก
ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา"
"ฉันนับถือศาสนาศิลปะ เผยแพร่สอนศิลปะ ศิลปินอดข้าว เขาไม่ตาย
แต่ถ้าห้ามเขาไม่ให้ทำงานศิลปะ เขาต้องตาย เขาอยู่ไม่ได้"
"นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"
"ถ้านายรักฉัน คิดถึงฉัน ขอให้นายทำงาน"
ลูกศิษย์ ศิลป์ พีระศรี
นอกจากผลงานในด้านศิลปะแล้ว ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังเป็นนักปั้นบุคลากรทางด้านศิลปะและศิลปินชั้นนำของประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ
- นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2528 ทั้งยังเป็นศิลปินและจิตรกร ผู้ได้รับการยกย่องเป็น "ครูใหญ่ในวงการศิลปะ" และยังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อปี 2526
- นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจําปี 2529
- นายประสงค์ ปัทมานุช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจําปี 2529
- นายทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2533
- นายสวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2534
- ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2541
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2542
- นายอินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2542
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปี 2543
- นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 ซึ่งถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นท้าย ๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ
บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยพีบีเอส, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล, ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, โครงการจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร