วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม รำลึกถึงรัฐบุรุษผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทย


           วันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้สร้างคุณงามความดีไว้มากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็น "บุคคลสำคัญของโลก"




ประวัติวันปรีดี พนมยงค์


           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม นับเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่สร้างคุณูปการมากมาย โดยเป็นทั้งผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ "ประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (27 มิถุนายน 2477) และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม  

           นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากขั้วตรงข้ามทางการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ภาพจาก : nrru.ac.th

           และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ รวมระยะเวลา 30 ปี ที่ไม่ได้กลับสู่ประเทศไทย แต่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาท ปรากฏว่าชนะทุกคดี และได้รับการรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

           ทั้งนี้ วันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นวัน "ปรีดี พนมยงค์" รัฐบุรุษผู้สร้างประโยชน์นานัปการ นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของไทย และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกว่าเป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

ประวัติ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


ภาพจาก : nrru.ac.th

           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับนางลูกจันทร์ พนมยงค์ เมื่ออายุ 17 ปี ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม จนกระทั่งศึกษาจบวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2460 ขณะอายุ 19 ปี หลังจากนั้นในปีเดียวกันได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญารัฐ (Doctorat d'etat) เป็นดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาแห่งรัฐ "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (Docteur en droit)

           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2470 ในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายด้วย

           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จากนั้นได้สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 มีบุตร-ธิดารวม 6 คน
 
           เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

           ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง อาทิ เลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

           ทั้งยังมีผลงานอันเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง อาทิ การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของชาติ, การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, เสนอพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476, เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่มหาประเทศทำไว้กับประเทศไทยจนสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยมีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการปฏิรูประบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม, จัดทำประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นฉบับแรกของประเทศ, ก่อตั้งธนาคารกลางแห่งชาติขึ้น ต่อมาก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ

           ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และกอบกู้เอกราชของชาติให้กลับคืนมา เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" คนแรก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ

           - ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489
           - ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
           - ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2489

           ต่อมาคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐ ใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้าง อันเป็นที่พำนักของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ต้องลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้นำกำลังทหารเรือส่วนหนึ่งกับชาวไทยที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ

           ระหว่าง พ.ศ. 2492-2513 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พำนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นย้ายไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุได้ 82 ปี 11 เดือน 22 วัน

           ด้วยผลงานและเกียรติคุณความดีของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงมีการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ทั้งนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ บรรจุในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลกในปี ค.ศ. 2000-2001

ปฏิทินชีวิต ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


พ.ศ. 2443-2459

          - เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          - ศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ต่อมาศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณี ประชาชน (เปี่ยม ขะชาติ)
          - สอบไล่ได้ประถมชั้น 1 แห่งประโยค 1 โรงเรียนวัดรวก อำเภอท่าเรือ
          - สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์ โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า
          - ศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
          - สอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า
          - ศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
          - ช่วยบิดาทำนา

 พ.ศ. 2460 (อายุ 17 ปี)   

          - เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

พ.ศ. 2462 (อายุ 19 ปี)

          - สอบไล่วิชากฎหมายขั้นเนติบัณฑิตได้

พ.ศ. 2463 (อายุ 20 ปี)

          - ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ให้ทุนไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส
          - สำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐ เป็นบาเชอลิเย กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้เป็นลิซองซิเย กฎหมาย (Licence en Droit) ณ มหาวิทยาลัยก็อง Universite de Caen)

พ.ศ. 2466 (อายุ 23 ปี)

          - ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสามัคยานุเคราะห์สมาคม เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d' Intellectualite et d' Assistance Mutielle อักษรย่อ (S.I.A.M.)

 พ.ศ. 2468 (อายุ 25 ปี)

          - ได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม

พ.ศ. 2469 (อายุ 26 ปี)

          - ได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม
          -  ประชุมผู้ก่อการคณะราษฎรครั้งแรกที่กรุงปารีส ณ Rue du Sommerard ผู้ร่วมประชุม 7 คน คือ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ, ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์
          - สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (Diplome d'Etudes Superieures d' Economie Politique) มหาวิทยาลัยปารีส ได้ปริญญารัฐเป็นดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย (Docteur en Droit) ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง Du Sort des Societes de Personnes en cas de Deces d'un Associe

 พ.ศ. 2470-2471 (อายุ 27-28 ปี)

          - เดินทางกลับประเทศไทย
          - ได้รับยศเป็นรองอำมาตย์เอกและอำมาตย์ตรี ตามลำดับ
          - ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"
          - สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ วันที่ 16 พฤศจิกายน

 พ.ศ. 2470-2475 (อายุ 27-32 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
          - ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย
          - ผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
          - ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ตอน ว่าด้วยห้างหุ้นส่วน, บริษัท, สมาคม
          - กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
          - ผู้สอน (คนแรก) วิชากฎหมายปกครอง (Droit  Administratif)

พ.ศ. 2475 (อายุ 32 ปี)

          - เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนคณะราษฎร ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน
          - เสนอหลัก 6 ประการของคณะราษฎร สำหรับใช้เป็นหลักการดำเนินนโยบายของสยาม
          - เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (อายุ 32 ปี)

          - ได้รับแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว
          - ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการราษฎรและสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติให้เป็นคณะกรรมการราษฎร
          - ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสภาผู้แทนราษฎร
          - ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (อายุ 32 ปี)

          - เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
          - ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี

15  มีนาคม พ.ศ. 2475 (อายุ 33 ปี)

          - เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ประกันความสุขสมบูรณ์ของมวลราษฎร ฯลฯ เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากพลังเก่าของสังคมสยามในยุคนั้น

12 เมษายน พ.ศ. 2476 (อายุ 33 ปี)

          - ถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปยังประเทศฝรั่งเศส ในข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตาม พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ฉบับ 2 เมษายน พ.ศ. 2476

29 กันยายน พ.ศ. 2476 (อายุ 33 ปี)

          - เดินทางกลับสยาม
          - ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (อายุ 33 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี

28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (อายุ 33 ปี)

          - สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 (อายุ 33 ปี)

          จัดยกร่าง พ.ร.บ. ดังนี้

          - พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
          - พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม

10 มีนาคม พ.ศ. 2477 (อายุ 34 ปี)

          - สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มิได้เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา

29 มีนาคม พ.ศ. 2477 (อายุ 34 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
          - ปฏิบัติการเพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นและท้องที่ คือ ตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยาม, กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน
          - จัดตั้งกรมโยธาเทศบาล เพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด
          - ป้องกันและปราบปรามการประทุษร้ายระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ลดน้อยลงกว่าสมัยก่อน
          - สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขง โดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่
          - สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร
          - สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ

27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 (อายุ 34 ปี)

          - สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ และได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ ตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2495

12 กุมภาพันธ์ 2478 พ.ศ. (อายุ 35 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ตุลาคม พ.ศ. 2478 (อายุ 35 ปี)

          - เดินทางไปเจรจาให้ประเทศมหาอำนาจยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศสยาม และเจรจาให้ธนาคารอังกฤษลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นร้อยละ 4 ต่อปี ได้เป็นผลสำเร็จ

พ.ศ.  2480 (อายุ 37 ปี)

          - ทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศมหาอำนาจรวม 12 ประเทศ ทำให้สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง ในทางศาล ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
          - เจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้โอนคืนดินแดนของสยามส่วนหนึ่งที่อังกฤษได้ไปจากสยามตามสนธิสัญญา 2411

พ.ศ. 2481-2484 (อายุ 38-41 ปี)

          - 16 ธันวาคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้สร้างผลงานที่สำคัญ ได้แก่ ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ (ภาษีส่วย), ยกเลิกอากรค่านา, ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม อาทิ ผู้มีรายได้มากเสียภาษีมาก ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย
          - สถาปนาประมวลรัษฎากร ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม
          - คาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามโลกและค่าเงินปอนด์จะลดลง จึงนำเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองไปซื้อทองคำหนักเกือบ 3 แสนออนซ์ ทองคำดังกล่าวยังเป็นทุนสำรองเงินบาทมาจนถึงทุกวันนี้
          - โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษและอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย
          - ป้องกันทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งอยู่ในต่างประเทศ และซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง เป็นมูลค่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ
          - ผูกหู (earmark) ทองคำญี่ปุ่นทดแทนการกู้เงินไทย
          - โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษและอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย

พ.ศ. 2483 (อายุ 40 ปี)

          - ประพันธ์และอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก สะท้อนอุดมการณ์สันติภาพ คัดค้านกระแสชาตินิยม และต่อต้านสงครามโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)

          - ก่อตั้งธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ตามดำริที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

18 กันยายน พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)

          - เสนอร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)

          - ญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น โดยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)

          - ทหารญี่ปุ่นบีบบังคับรัฐบาลให้ปลดนายปรีดี ที่ต่อต้านญี่ปุ่นออกจากตำแหน่งทางการเมือง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ธันวาคม พ.ศ. 2484 - สิงหาคม พ.ศ. 2487 (อายุ 41-44 ปี)

          - เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในนาม "รู้ธ" โดยรวบรวมคนไทยทั้งในและนอกประเทศทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อให้ชาติไทยได้รับเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนสู่สภาพก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488  (อายุ 44-45 ปี)

          - สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (อายุ 45 ปี)

          - ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

25 กันยายน พ.ศ. 2488 (อายุ 45 ปี)

          - เป็นประธานในพิธีสวนสนามของขบวนการเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนิน ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (อายุ 45 ปี)

          - พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส

30 มกราคม พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2

26 กุมภาพันธ์ - 25 มีนาคม พ.ศ. 2489  (อายุ 46 ปี)

          - สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ประชุมกรรมาธิการได้เลือกนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน

24 มีนาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 1)
          - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครั้งที่ 2) โดยมีผลงานที่สำคัญคือ เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2489, เสนอ พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เป็นโมฆะ และเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จนสามารถยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้กักไว้ในสหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ, เจรจาเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยรับสนองพระบรมราชโองการในฐานะนายกรัฐมนตรี

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาโดยสภาผู้แทนราษฎร

1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

8-9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2) โดยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของที่ประชุมสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร
          - พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันเดียวกัน
          - ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง โดยเหตุผลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเสด็จสวรรคต

11 มิถุนายน - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 3)
          - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครั้งที่ 3)

5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - 8 เมษายน พ.ศ. 2490 (อายุ 46-47 ปี)

          - ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (อายุ 46-47 ปี)

          - ได้รับเชิญจากประเทศสัมพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ฯลฯ ให้ไปเยือนประเทศในฐานะแขกผู้มีเกียรติของสัมพันธมิตร และเพื่อสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน

พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)

          - สถาบันสมิธโซเนียน (SmithsonianInstitution) สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อนกที่ค้นพบบริเวณดอยอ่างขางและดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2471 ว่านก Chloropsis aurifrons pridii เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี ในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (อายุ 47 ปี)

          - คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (อายุ 49 ปี)

          - ดำเนินการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย โดย "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" ทำการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

 กันยายน พ.ศ. 2492 - พฤษภาคม พ.ศ. 2513 (อายุ 49-70 ปี)

          - ลี้ภัยทางการเมือง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และใช้เวลาในการเขียนหนังสือและบทความต่าง ๆ อาทิ สังคมปรัชญาเบื้องต้น, ความเป็นอนิจจังของสังคม ฯลฯ

 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 (อายุ 52 ปี)

          - นายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโต และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยา ถูกรัฐบาลทหารสั่งจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

พฤษภาคม พ.ศ. 2513 - พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (อายุ 70-83 ปี)

          - ลี้ภัยการเมือง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่รับปรึกษาในราชการแผ่นดิน เขียนบทความเสนอข้อคิดมายังรัฐบาลไทย เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติ
          - ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ปฏิเสธไม่ยอมออกหนังสือรับรองสภาพการมีชีวิตของนายปรีดี เพื่อขอรับบำนาญ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย จนต่อมาทางกระทรวงยอมออกหนังสือให้
          - ประพันธ์หนังสือเรื่อง Ma vie mouvementee et mes 21ans d'exil en Chine Populaire (ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน)
          - ประพันธ์บทความเรื่อง "จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่", "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม", "เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร" ฯลฯ
          - ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่เขียนโจมตีว่าพัวพันในคดีสวรรคต จนชนะคดีทั้งหมด

29 มกราคม พ.ศ. 2526 (อายุ 83 ปี)

          - ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 มีการแปรอักษรรำลึกถึงอาจารย์ปรีดี ซึ่งนับเป็นการแสดงความเคารพต่อรัฐบุรุษอาวุโสในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (อายุ 83 ปี)

          - อสัญกรรม ณ บ้านพักอองโตนี ชานกรุงปารีส ด้วยอาการหัวใจวาย รวมอายุ 83 ปี 11 เดือน 22 วัน

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527


          - เปิดอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529

          - นำอัฐิของนายปรีดีกลับมาเมืองไทย ก่อนจะนำอังคารไปลอยในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน
          - พิธีเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ปฏิบัติกิจแทนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

24 มิถุนายน พ.ศ. 2538

          - พิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎร

 ธันวาคม พ.ศ. 2540

          - ตั้งชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ในกรุงเทพมหานคร

 27 มิถุนายน พ.ศ. 2541

          - เปิดหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543


          - ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

พ.ศ. 2544


          - ตั้งชื่อถนนปรีดี พนมยงค์ (ถนนสุขุมวิท 71)


เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก : lib.ru.ac.thtu.ac.th, เฟซบุ๊ก สถาบันปรีดี พนมยงค์ - Pridi Banomyong Institute

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม รำลึกถึงรัฐบุรุษผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทย อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 00:06:03 40,259 อ่าน
TOP
x close