ทำบัตรประชาชนใหม่ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ทำนอกเขตได้ไหม จะไปทำวันเสาร์ได้หรือเปล่า แล้วถ้าบัตรหาย บัตรหมดอายุ ต้องไปทำใหม่ภายในกี่วัน กฎหมายสำคัญที่เราควรศึกษา
บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการที่คนไทยทุกคนต้องพกติดตัวไว้
เพราะนอกจากจะใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตนแล้ว ยังใช้ในการขอรับบริการหรือติดต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการประกอบธุรกรรมต่าง
ๆ ได้ด้วยนะคะ แต่ทว่าบางคนอาจเผลอทำบัตรประจำตัวประชาชนหาย
หรือบัตรหมดอายุไป เลยต้องไปทำใหม่ และอาจสงสัยว่า หากจะไปทำบัตรประชาชนใหม่ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
จำเป็นต้องไปทำที่ว่าการอำเภอในเขตที่อาศัยอยู่หรือไม่
แล้วสามารถไปทำวันเสาร์ได้ไหม
เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชนมาบอกกันตรงนี้ค่ะ
ใครต้องมีบัตรประชาชน
1. มีสัญชาติไทย
2. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
3. มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอทำบัตรประชาชนก็สามารถทำได้)
1. สมเด็จพระบรมราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3. ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช
4. ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
5. ผู้อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
ใครต้องมีบัตรประชาชน
1. มีสัญชาติไทย
2. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
3. มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอทำบัตรประชาชนก็สามารถทำได้)
ใครได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประชาชน
1. สมเด็จพระบรมราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3. ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช
4. ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
5. ผู้อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
บัตรประชาชนมีอายุกี่ปี
สมัยก่อนบัตรประชาชนจะมีอายุใช้งานได้ 6 ปี แต่หลังจากปี พ.ศ. 2554 ได้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) ขยายเวลาให้บัตรประชาชนมีอายุ 8 ปี โดยนับตั้งแต่วันเกิดของผู้ถือบัตรที่จะถึงกำหนดหลังจากวันออกบัตร
ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า หากใครไปทำบัตรประจำตัวประชาชนหลังวันเกิดไม่กี่วัน บัตรจะมีอายุได้ถึง 8 ปี 11 เดือน เนื่องจากจะเริ่มนับวันแรกในวันเกิดของปีถัดไปนั่นเอง
แต่หากผู้ถือบัตรมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ แต่บัตรยังไม่หมดอายุก็สามารถใช้ต่อไปได้จนตลอดชีวิต
ทำบัตรประชาชนที่ไหน วันเสาร์ทำได้ไหม มีสถานี BTS ไหนบ้าง
1. สถานที่ราชการ
เช่น สำนักงานเขต, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเทศบาล, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, หน่วยบริการจัดทำบัตรเคลื่อนที่ของกรมการปกครอง, สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคนไทยในต่างประเทศสามารถขอทำบัตรประชาชนได้ ณ สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่
โดยจะให้บริการในวัน-เวลาราชการ แต่สำนักงานเขตบางแห่งอาจเปิดให้บริการในวันเสาร์ด้วย ซึ่งต้องสอบถามไปยังสำนักงานเขตที่เราต้องการไปทำบัตรประชาชนก่อน เพราะบางแห่งจะเปิดให้บริการเฉพาะครึ่งวันเช้าเท่านั้น
2. จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service)
ภาพจาก : RosaLin Zhen Zhen/Shutterstock
กรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ทะเบียนประวัติ และบริการทำบัตรประจำตัวประชาชน โดยปัจจุบันเปิดให้บริการตามจุดต่าง ๆ คือ
- สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม บริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสยามกับห้างสรรพสินค้าพารากอน (อยู่ระหว่างย้ายไปศูนย์การค้า MBK) โทร. 0-2250-0125-6
- สถานีรถไฟฟ้า BTS อุดมสุข ทางออก 4 โทร. 0-2399-3499
- สถานีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่ ทางออก 1 โทร. 0-2440-1604
เวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ 10.00-19.00 น. ส่วนวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ ให้บริการเวลา 10.00-18.00 น. (หยุดพักกลางวัน เวลา 12.00-13.00 น.)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก รถไฟฟ้าบีทีเอส
- ศาลาว่าการ กทม. ชั้น 1 ติดธนาคารกรุงไทย เปิดบริการเวลา 08.30-16.30 น. เฉพาะวันและเวลาราชการ โทร. 0-221-2141-69 ต่อ 1560-62
- ห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ชั้น B ติดร้าน Power Buy เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 0-2458-2507
- ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค ชั้น 3 บริเวณทางเข้า-ออก ลานจอดรถ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 0-2454-7395
- ห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์พาร์ค ชั้น G ติดเคาน์เตอร์ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน หลังธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 0-2325-9079
- ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ชั้น 3 เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.30-18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30-18.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์ โทร. 02-187-4145
ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร
- ขอมีบัตรครั้งแรก (เด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป)
- บัตรเดิมหมดอายุ
- บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
- เปลี่ยนที่อยู่ ชื่อตัว ชื่อสกุล
- คัดสำเนารายการบัตร
แต่จะไม่รับทำบัตรกรณีที่ต้องมีการสอบสวนตามกฎหมาย เช่น บัตรหาย หรือบัตรถูกทำลาย ซึ่งกรณีนี้ต้องไปทำที่สถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขต เท่านั้นค่ะ
ทำบัตรประชาชนออนไลน์ จองคิวได้ที่ไหน
เพื่อป้องกัน COVID-19 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงแนะนำให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการงานทะเบียนราษฎร เช่น ทำบัตรประชาชน ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ จองคิวออนไลน์ล่วงหน้าก่อนรับบริการ ได้ดังนี้
1. แอปพลิเคชัน BMA Q
สำหรับการทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขต 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร และจุดบริการด่วนมหานคร สามารถจองคิวล่วงหน้าได้ผ่านแอปพลิเคชัน BMA Q
2. เว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ภาพจาก : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
สำหรับคนที่ต้องการจองคิวทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้ทำตามขั้นตอนนี้
1. ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://Q-online.bora.dopa.go.th
2. โดยกรอกเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก / วัน เดือน ปี เกิด / เบอร์โทร. 10 หลัก
3. เลือกระบบนัดหมายรับบริการล่วงหน้า
4. เลือกจังหวัด อำเภอ งานที่จะใช้บริการ และเลือกวันที่ที่จะเข้ารับบริการ
ทำบัตรประชาชนใหม่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง เสียค่าธรรมเนียมไหม
ในการทำบัตรประจำตัวประชาชนแต่ละกรณี จะใช้เอกสารต่างกัน คือ
กรณีทำบัตรประชาชนครั้งแรก
เมื่อมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน (ไม่เสียค่าธรรมเนียม) หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท โดยใช้เอกสารดังนี้
1. สูติบัตร (ฉบับจริง) หรือหลักฐานอื่นที่ราชการออกให้ เช่น ใบสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง เป็นต้น เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน
2. หากเคยเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องนำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อมาแสดงด้วย
3. หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
4. กรณีบิดา-มารดาเป็นคนต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา-มารดามาแสดงด้วย หรือนำใบมรณบัตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถึงแก่กรรมไปแสดง
* บุคคลผู้น่าเชื่อถือ หมายถึง บุคคลใด ๆ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่แน่นอน มีอาชีพมั่นคงและมีความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ขอมีบัตรเป็นอย่างดี อาจเกี่ยวข้องเป็นญาติกันหรือไม่ก็ได้
กรณีบัตรประชาชนหมดอายุ
ต้องยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ ทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท โดยนำเอกสารหลักฐานเหล่านี้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่
1. บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่หมดอายุ
2. หากบัตรเดิมหมดอายุเป็นเวลานาน ต้องนำเจ้าบ้านหรือพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรองด้วย
* สามารถทำบัตรใหม่ก่อนจะหมดอายุได้ 60 วัน
กรณีทำบัตรประชาชนหาย หรือถูกทำลาย
เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนหาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก็สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ได้เลย เพราะเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกบัตรใหม่ให้แล้ว บัตรเดิมที่สูญหายจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติทันที โดยต้องยื่นคำร้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรหาย หากพ้นกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ทั้งนี้ กรณีทำบัตรประชาชนหาย สามารถไปทำบัตรใหม่ได้ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอจังหวัดใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องกลับไปทำบัตรที่ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน แต่จะไม่สามารถทำบัตรใหม่ที่จุดบริการด่วนมหานคร ตามสถานีรถไฟฟ้า BTS หรือในห้างสรรพสินค้า โดยการทำบัตรประชาชนใหม่จะใช้หลักฐานคือ
2. หากไม่มีหลักฐานตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
* เสียค่าธรรมเนียมการออกบัตรใหม่ 100 บาท (หากไม่ทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน จะเสียค่าปรับอีก 100 บาท)
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ต้องแจ้งความก็สามารถทำบัตรใหม่ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนที่ทำหายไปใช้ในทางที่ไม่ดี เราสามารถไปขอลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานไว้ได้
หากมีการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล จะต้องเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่แก้ไขชื่อในทะเบียนบ้าน หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท โดยเอกสารที่ต้องใช้คือ
1. บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ต้องการเปลี่ยน
2. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล แล้วแต่กรณี
* เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
กรณีบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ หรือบัตรถูกทำลาย
หากบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ บัตรถูกทำลาย เช่น บัตรถูกไฟไหม้บางส่วน บัตรชำรุด เลอะเลือน เป็นต้น ต้องเปลี่ยนบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมชำรุดหรือถูกทำลาย หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท เอกสารที่ต้องใช้คือ
1. บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ชำรุดหรือถูกทำลาย
2. เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ หลักฐานการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
3. หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
* เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
เช่น ภิกษุ สามเณร สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งจะต้องนำเอกสารหลักฐานเหล่านี้มายื่นต่อเจ้าหน้าที่
1. กรณีพระภิกษุ หรือสามเณร ต้องย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านของวัดก่อน แล้วแก้ไขคำนำหน้านามในทะเบียนบ้านเป็นพระ สามเณร หรือสมณศักดิ์ ก่อนจึงจะขอมีบัตรได้
2. หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือสุทธิของพระ หรือหนังสือเดินทาง กรณีเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ณ ต่างประเทศ
กรณีบุคคลที่พ้นสภาพได้รับการยกเว้นขอทำบัตร
ผู้ซึ่งพ้นสภาพได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น ผู้พ้นโทษจากเรือนจำหรือทัณฑสถาน เป็นต้น ต้องไปขอทำบัตรประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่วันพ้นสภาพได้รับการยกเว้น โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท โดยใช้เอกสารคือ
1. หลักฐานที่แสดงว่าพ้นสภาพจากการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือสำคัญของเรือนจำหรือทัณฑสถาน (ร.ท.5) หรือหนังสือเดินทางและเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีบัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี เป็นต้น
2. หากไม่ปรากฏข้อมูลการทำบัตร หรือบัตรเดิมได้หมดอายุนานแล้ว ต้องนำเจ้าบ้านและบุคคลน่าเชื่อถือมารับรองด้วย
กรณีผู้ถือบัตรย้ายที่อยู่
เพื่อให้รายการที่อยู่ที่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชนตรงกับรายการในทะเบียนบ้าน ผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรโดยที่บัตรเดิมยังไม่หมดอายุสามารถทำได้ แต่หากไม่ขอเปลี่ยนบัตรก็สามารถใช้บัตรนั้นได้ต่อไปจนกว่าบัตรจะหมดอายุ โดยต้องนำบัตรประชาชนใบเก่ามายื่นขอทำใหม่
* เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
กรณีผู้มีอายุเกิน 70 ปี ขอมีบัตร
คนสัญชาติไทยซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี แม้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัตรใหม่ แต่จะขอมีบัตรประจำตัวประชาชนก็ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และต้องนำหลักฐานต่อไปนี้มายื่นต่อเจ้าหน้าที่
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2. บัตรประจำตัวประชาชนเดิม (ถ้ามี)
3. หากไม่ปรากฏข้อมูลการทำบัตร หรือบัตรเดิมได้หมดอายุนานมากแล้ว ต้องนำเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้มาแสดง พร้อมทั้งนำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรอง
กรณีเป็นบุคคลได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
ผู้ที่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านต้องยื่นขอมีบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากพ้นกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท โดยใช้หลักฐานดังนี้
1. เพิ่มชื่อกรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด ใช้หลักฐานสูติบัตร และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลน่าเชื่อถือ
2. เพิ่มชื่อกรณีชื่อตกสำรวจในสำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้นั้นเคยมีชื่ออยู่ก่อน ใช้หลักฐานการเพิ่มชื่อหรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ
กรณีบุคคลซึ่งได้สัญชาติไทย หรือได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทย หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย
จะยื่นคำขอมีบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสัญชาติไทย โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากเกินกำหนด 60 วัน มีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ซึ่งต้องใช้หลักฐานคือ
1. กรณีได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย ใช้หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือหนังสือสำคัญแสดงการได้กลับคืนสัญชาติเป็นไทย แล้วแต่กรณี
2. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ
ขอเปลี่ยนบัตร กรณีเปลี่ยนคำนำหน้านาม
สามารถเปลี่ยนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยใช้หลักฐานคือ
1. บัตรประจำตัวประชาชนเดิม
2. หลักฐานแสดงการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า เป็นต้น
ภาพจาก : RosaLin Zhen Zhen/Shutterstock
ทำบัตรประชาชนใหม่ก่อนหมดอายุได้ไหม หรือต้องทำหลังหมดอายุ
หากบัตรประชาชนของเราใกล้หมดอายุแล้วภายใน 60 วัน เราสามารถขอมีบัตรใหม่ก่อนบัตรเดิมหมดอายุได้ค่ะ แต่หากบัตรเดิมหมดอายุแล้ว เราก็จะต้องยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนใบใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ หากช้าเกิน 60 วัน จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ทำบัตรประชาชนหายต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง
เมื่อทำบัตรประชาชนหาย เราต้องขอออกบัตรใหม่ โดยไปแจ้งบัตรประชาชนหายต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกการรับแจ้งเอกสารบัตรประชาชนสูญหาย หรือถูกทำลายไว้ในใบ บ.ป.7 และเราต้องยื่นคำร้องขอมีบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรหาย หากเกิน 60 วัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ทั้งนี้ อย่าลืมนำเอกสารที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการเป็นผู้ออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับรถ หนังสือเดินทาง ไปยื่นเป็นหลักฐานด้วยนะคะ แต่หากไม่มีเอกสารดังกล่าว ให้นำเจ้าบ้านหรือผู้ที่น่าเชื่อถือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปให้การรับรอง
ทำบัตรประชาชนหายต้องแจ้งความตำรวจไหม
ถ้าทำบัตรประชาชนหายก็สามารถไปทำใหม่ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอได้เลย โดยไม่ต้องมีใบแจ้งความจากตำรวจ แต่ทว่าเราก็สามารถไปแจ้งลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ เพื่อป้องกันกรณีมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปกระทำทุจริต เช่น นำไปเปิดบัญชีธนาคารหรือนำไปกระทำผิดโดยที่เราไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับเราได้
ค่าธรรมเนียมและค่าปรับเกี่ยวกับการขอมีบัตรประชาชนที่ควรรู้
ประชาชนสามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในกรณี
- ทำบัตรครั้งแรก
- ขอออกบัตรใหม่ทดแทนบัตรเดิมที่หมดอายุ
- ผู้ซึ่งมีอายุเกิน 70 ปีขอมีบัตร
- กรณีบุคคลที่พ้นสภาพได้รับการยกเว้นขอทำบัตร
- กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นขอทำบัตร
ส่วนกรณีอื่น ๆ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2559 คือ
- บัตรหมดอายุเกิน 60 วัน เสียค่าปรับ 100 บาท
- ขอเปลี่ยนบัตรใหม่ เนื่องจากบัตรชำรุด หรือเปลี่ยนที่อยู่ หรือเปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนชื่อสกุล เสียค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ 100 บาท
- ขอออกบัตรในกรณีทำบัตรหาย หรือถูกทำลาย เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
- บัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ บัตรถูกทำลาย เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
- กรณีเปลี่ยนบัตรใหม่ เพราะบัตรชำรุด เปลี่ยนชื่อสกุล ที่อยู่ หรือทำบัตรหาย บัตรชำรุด จะต้องยื่นขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน หากเกิน 60 วัน จะเสียค่าปรับ 100 บาท
- การออกใบแทนใบรับ เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท
- การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท
ทั้งนี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีกระทรวงมหาดไทยประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรได้ภายใน 60 วัน
การทำบัตรประชาชนเป็นกฎหมายสำคัญที่เราควรศึกษาไว้นะคะ เพราะในช่วงชีวิตหนึ่งเราคงได้ทำบัตรประชาชนอยู่หลายครั้ง ถ้าศึกษาให้เข้าใจก็จะได้เตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนไปทำบัตร และจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับเพราะเกินระยะเวลา
***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : ระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน, สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.), สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร, กรมการปกครอง OFFICIAL, เฟซบุ๊ก BMA Express Service สาขาศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย, ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานเขตภาษีเจริญ