x close

เห็บดูดเลือดมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ หลักฐานชี้ชัด แม้แต่ไดโนเสาร์ยังไม่รอดจากเห็บ


เห็บดูดเลือด

          เห็บดูดเลือดมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ หลักฐานจากอำพันชี้ชัด แม้แต่ไดโนเสาร์ยังไม่รอดจากเห็บ ดูดเข้าไปจนตัวบวมเป่ง แต่ยากจะสกัดดีเอ็นเอจากเลือดไดโนเสาร์ในตัวเห็บได้

         วันที่ 13 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า นักบรรพชีวินวิทยาได้ค้นพบหลักฐานใหม่ที่จะมาพิสูจน์แล้วว่าเห็บดูดเลือดนั้นมีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และอาหารของมันก็ไม่ใช่อื่นใด หากแต่เป็นเลือดของไดโนเสาร์นั่นเอง

         การค้นพบดังกล่าว เกิดขึ้นจากการศึกษาตัวอย่างฟอสซิลของเห็บโบราณ ที่มีชื่อว่า Deinocroton draculi มันอยู่ในก้อนอำพันอายุ 99 ล้านปี ที่ได้จากประเทศเมียนมา เห็บเหล่านี้บางตัวอาศัยอยู่ในเส้นขนของไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอด (Theropods) และมีบางตัวที่ดูดเลือดของไดโนเสาร์เข้าไปเต็มที่จนตัวบวมกว่าขนาดปกติถึง 8 เท่า

เห็บดูดเลือด

         อย่างไรก็ตาม ดร.ริชาร์โด เปเรซ-เดอ ลา ฟอนต์ นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ยอมรับว่า พวกเขายังไม่สามารถระบุได้ว่าเลือดที่เป็นอาหารของเห็บเหล่านี้ เป็นไดโนเสาร์ชนิดใด แม้เส้นขนที่พบในอำพันจะมีลักษณะเหมือนเส้นขนของไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอด ที่พวกเขาเคยศึกษามาแล้วก็ตาม
         
         ทั้งนี้ฟอสซิลเห็บในอำพัน ทำให้มันกลายมาเป็นเห็บดูดเลือดสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ และเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าเคยมีเห็บดูดเลือดไดโนเสาร์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการจะสกัดนำดีเอ็นเอจากเลือดไดโนเสาร์ในตัวเห็บมาใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปโคลนนิ่งแบบในหนังนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวอย่างเท่าที่มี อีกทั้งการวิเคราะห์หาข้อมูลจากเลือดเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องยาก

เห็บดูดเลือด

ภาพจาก Nature Communications; Peñalver et al.
ข้อมูลจาก sciencemag.org


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เห็บดูดเลือดมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ หลักฐานชี้ชัด แม้แต่ไดโนเสาร์ยังไม่รอดจากเห็บ อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2560 เวลา 10:46:01 3,621 อ่าน
TOP