จันทรุปราคาเกิดจากอะไร ทำไมบางครั้งพระจันทร์เป็นสีเลือด

จันทรุปราคา

          ปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงที่เรียกว่า จันทรุปราคา เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมบางครั้งจันทรุปราคาถึงเป็นพระจันทร์สีเลือดได้ มาไขปริศนามหัศจรรย์จากธรรมชาติที่มาพร้อมกับความเชื่อบางอย่าง

          จันทรุปราคา (อ่านว่า จัน-ทะ-รุบ-ปะ-รา-คา) หรือ จันทรคราส เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เราเคยร่ำเรียนกันมาในสมัยเด็ก ๆ แต่เราเชื่อค่ะว่าบางคนคืนตำราดาราศาสตร์ให้คุณครูกันไปหมดแล้ว ดังนั้นกระปุกดอทคอมเลยจะมาทบทวนเรื่องจันทรุปราคาให้ทุกคนได้ทราบกันอีกครั้ง ว่าจันทรุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร พระจันทร์เป็นสีเลือดนี่เกิดจากอะไร แล้วความเชื่อบางอย่างที่มาพร้อมกับจันทรุปราคาคืออะไรกันแน่

จันทรุปราคา

จันทรุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร

          จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เกิดจากปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยโลกจะอยู่ในตำแหน่งกลางระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์จะโคจรเข้าไปอยู่ในเงาของโลก ซึ่งเงาของโลกที่เกิดขึ้นมีทั้ง "เงามืด" คือส่วนที่มืดที่สุด เนื่องจากโลกบดบังดวงอาทิตย์จนหมดสิ้น และ "เงามัว" คือส่วนที่ไม่ได้มืดสนิท เพราะโลกบดบังแค่ดวงอาทิตย์บางส่วน

          ทั้งนี้ การที่เงาของโลกที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน ก็ทำให้ดวงจันทร์ซึ่งโคจรเข้าไปในบริเวณเงาของโลกที่ต่างกัน เกิดเป็นจันทรุปราคาที่มีลักษณะต่างกันไปด้วยนะคะ อย่างที่นักดาราศาสตร์ได้แบ่งการเกิดจันทรุปราคาออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ

          1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) คือการที่ดวงจันทร์ทั้งดวงค่อย ๆ โคจรหลบไปในเงามืดของโลกทีละนิด ๆ กระทั่งดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่สำคัญในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เราจะได้เห็นพระจันทร์สีเลือดอีกด้วย

          2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์บางส่วนโคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก จุดนี้เราจะได้เห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

          3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามัวของโลกโดยไม่ผ่านส่วนของเงามืดเลย ทำให้ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดลง ซึ่งค่อนข้างสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ยาก

จันทรุปราคา


จันทรุปราคากลายเป็นพระจันทร์สีเลือดได้อย่างไร

          ปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือดในคืนที่มีจันทรุปราคา เหตุที่พระจันทร์กลายเป็นสีแดง สีส้มอิฐ จนถูกเรียกขานว่าพระจันทร์สีเลือด นั่นก็เพราะเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้ามาอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่งผลให้แสงสีแดงจากดวงอาทิตย์หักเหผ่านบรรยากาศของโลกไปกระทบกับดวงจันทร์ ก่อให้เกิดเป็นพระจันทร์สีเลือดขึ้นได้

          และเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกจากเงามืดของโลก โดยผ่านเงามัวของโลก จุดนี้เราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างของดวงจันทร์จะลดน้อยลงและไม่เจอแสงดวงอาทิตย์ส่องกระทบให้เห็นเป็นพระจันทร์สีเลือดอีก ซึ่งช่วงเวลานี้จะค่อนข้างสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ได้ค่อนข้างยากค่ะ
จันทรุปราคา

จันทรุปราคา เกิดขึ้นตอนไหน

          จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ทุกเดือน เพราะการจะเกิดจันทรุปราคาได้ ก็ต้องเป็นคืนที่ดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ โคจรอยู่ในระนาบเดียว และดวงจันทร์จะต้องอยู่บริเวณจุดตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง หรือต้องอยู่ใกล้จุดตัดนั้นมากจึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงหรือบางส่วนได้ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาในแต่ละปีนั้นจะมีอยู่เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
     
จันทรุปราคา 2561 เกิดขึ้นวันไหน ตอนไหนบ้าง

          ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2561 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงถึงสองครั้งด้วยกัน โดยจันทรุปราคาครั้งแรกจะตรงกับ วันที่ 31 มกราคม 2561 นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561

จันทรุปราคา

   
          ที่สำคัญในวันดังกล่าวยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย โดยดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น. จากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51-21.07 น. โดยจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนานประมาณ 1 ชั่วโมง 16 นาที ทั้งนี้สามารถดูลำดับการเกิดจันทรุปราคาอย่างชัดเจนได้จากข้อมูลด้านล่างนี้เลยค่ะ

ตารางแสดงเวลาการเกิดจันทรุปราคาในวันที่ 31 มกราคม 2561 (ตามเวลาในประเทศไทย)

          - เวลา 17.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเงามัว

          - เวลา 18.48 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน

          - เวลา 19.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

          - เวลา 20.29 น. กึ่งกลางจันทรุปราคา    

          - เวลา 21.07 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง

          - เวลา 22.11 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน

          - เวลา 23.08 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเงามัว

จันทรุปราคา


          ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเราจะได้เห็นพระจันทร์สีเลือดกันอีกครั้งหนึ่งค่ะ

จันทรุปราคา 31 มกราคม 2561 ดูจากที่ไหนได้บ้าง

          พื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นไป

จันทรุปราคา ดูด้วยตาเปล่าได้ไหม ?
     
          น่าจะเคยได้ยินกันว่า ถ้าเกิดสุริยุปราคาห้ามดูด้วยตาเปล่า เพราะรังสีจากดวงอาทิตย์อาจทำให้ตาบอดได้ แต่กลับกัน ถ้าเป็นจันทรุปราคา ซึ่งเกิดในช่วงเวลากลางคืน เราสามารถดูด้วยตาเปล่าได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาแต่อย่างใดค่ะ

จันทรุปราคา

จันทรุปราคา ปรากฏการณ์ที่มาพร้อมความเชื่อ

          หลากความเชื่อในคืนที่พระจันทร์เป็นสีแดง จากที่เคยเห็นพระจันทร์สุกสว่างสีเหลืองนวลธรรมดา แต่ในคืนหนึ่งกลับพบว่า พระจันทร์ค่อย ๆ มืดมิดลงไปและกลายเป็นสีแดงในที่สุด ซึ่งแน่นอนค่ะว่า ชาวบ้านที่พบเห็นก็พากันตระหนกตกใจและคิดกันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าพระจันทร์สีเลือดเปรียบเสมือนลางร้าย หวั่นเกรงจะมีภัยหรือเหตุการณ์ไม่ดี

          โดยในสมัยก่อนเชื่อว่า จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส เกิดจากเทพองค์หนึ่งชื่อ "ราหู" เกิดความโกรธที่พระจันทร์ฟ้องร้องต่อ พระอิศวรว่า พระราหูกระทําผิดกฎของสวรรค์ คือแอบไปดื่มน้ำอมฤตที่ทําให้ชีวิตเป็นอมตะ พระอิศวรจึงลงโทษโดยตัดลําตัวราหูออกเป็น 2 ท่อน พระราหูจึงทําการแก้แค้นโดยการไล่ "อม" พระจันทร์ คนไทยในสมัยโบราณจึงเรียกปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์มืดลงและกลายเป็นสีแดงอิฐน้ีว่า เกิด "คราส" หรือ "จันทรคราส" (คราส แปลว่า กิน)

          ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดจันทรุปราคาครั้งใด ผู้คนก็จะช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ตีปิ๊บ หรือส่งเสียงดัง ๆ เพื่อขับไล่พระราหูให้ปล่อยดวงจันทร์เสีย ไม่ต่างจากคนจีนในสมัยโบราณที่เชื่อว่าจันทรุปราคาเกิดจากมังกรไล่เขมือบดวงจันทร์ จึงต้องจุดประทัดและตีกลองไล่เพื่อให้มังกรคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมา

จันทรุปราคา

จันทรุปราคา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้านดาราศาสตร์ที่น่ารู้
               

          การเกิดจันทรุปราคาสามารถพิสูจน์ให้เห็นตามหลักทางดาราศาสตร์ได้ว่า ดวงจันทร์มีการโคจรรอบโลก นอกจากนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคายังช่วยเราหาคำตอบว่า โลกใบนี้กลมจริงหรือไม่ ? ได้อีกด้วย เพราะหากลองสังเกตเงาของโลกที่ปรากฏบนผิวของดวงจันทร์จะพบว่า เงาที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นเส้นโค้งเหมือนวงกลม ซึ่งในอดีต นักดาราศาสตร์ได้ใช้ความโค้งของเงาโลกที่ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์ระหว่างการเกิดจันทรุปราคาบางส่วนมาเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งท่ีชี้ให้เห็นว่าโลกกลม

          และที่สําคัญปรากฏการณ์จันทรุปราคายังแสดงให้เห็นว่า โลกและพระจันทร์ต่างก็ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่ที่โลกและพระจันทร์มีแสงสว่างอย่างที่เราเห็นนั้น เป็นการอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นั่นเอง
              
          เอาเป็นว่าความเชื่อใด ๆ ก็ฟังหูไว้หูกันดีกว่าเนอะ แต่นานทีปีหนจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติทั้งที เรื่องดี ๆ แบบนีอย่าได้พลาดกันเชียว !


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สมาคมดาราศาสตร์ไทย
สวทช.
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จันทรุปราคาเกิดจากอะไร ทำไมบางครั้งพระจันทร์เป็นสีเลือด อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2561 เวลา 18:31:16 39,141 อ่าน
TOP
x close