เปิดตำนาน.. ถนนผ่าป่าเขาอ่างฤาไน แหล่งมรดกลูก-หลานช้าง ผืนป่าตะวันออก

ถนนผ่าป่าเขาอ่างฤาไน

          เปิดตำนาน ถนนผ่าป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน​ เผยเป็นแหล่งเลี้ยงช้างตามธรรมชาติตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นสถานที่พบ พระศรีเศวตรศุภลักษณ์ฯ ช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 ชี้ปัจจุบันมีหลายตัวเข้าข่ายลักษณะช้างศึก

          จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิปวิดีโอ ช้างป่าได้รับบาดเจ็บกำลังเดินลากขาเข้าไปในป่า เนื่องจากถูกรถกระบะชนบนถนนทางหลวงเส้น 3259 ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นที่น่าหดหู่ใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัดถนนผ่านเส้นทางธรรมชาติ เหมือนเป็นการบุกรุกถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านั้น (อ่านข่าว : สุดเวทนา...หมอล็อตโพสต์คลิปช้างป่าถูกกระบะชน เดินเข้าป่าแทบไม่ไหว)
          เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุด (23 กุมภาพันธ์ 2561) เจ้าของเฟซบุ๊ก Thipdhida Satdhathip ได้นำเรื่องราวจาก เพจน้าหมู บดินทร์ จันทสีคำ เปิดเผยเกี่ยวกับถนนผ่าป่าในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน​ ถนนสาย 3259​ โดยเล่าว่า ในอดีตผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งเลี้ยงช้างตามธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อเสร็จศึกจะต้องปล่อยให้ช้างหากินเองตามธรรมชาติ ถึงเวลาใช้งานจึงค่อยกวาดต้อนกลับเข้าเพนียด ซึ่งผืนป่าตะวันออกเหมาะสมที่สุดและถูกเลือกเป็นแหล่งปล่อยช้างให้เข้าไปอยู่อาศัยและหากินเองตามธรรมชาติ  เนื่องจากมีป่าที่ราบ ทั้งยังมีเทือกเขาสันกำแพงและเทือกเขาจันทบุรี (เทือกเขาจันทบูรณ์) และนาน ๆ จะถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน

          โดยนักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องช้างในประเทศไทย เชื่อว่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ช้างต้นที่เป็นทั้งช้างศึกและช้างเผือกในพระราชวัง น่าจะอพยพหนีมาอยู่ยังเขาอ่างฤาไน ซึ่งยังคงมีหลักฐานยืนยัน และในอดีตที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ของอุทยานสามารถบันทึกภาพช้างป่าตัวผู้ตัวหนึ่ง ที่มีลักษณะตรงตามลักษณะของช้างศึก ให้ชื่อช้างตัวนี้ว่า "รถถัง" และยังพบช้างป่าอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะช้างศึกอีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 อีกด้วย
       
         ทั้งนี้ ช้างเผือกเป็นลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม จึงมีการถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมจากพ่อ-แม่สู่ลูกได้ ในบรรดาช้างสำคัญทั้ง 107 ช้างของราชอาณาจักรไทยนั้น มีอยู่คู่หนึ่ง พบว่า เป็นแม่ลูกกัน คือ ช้างสำคัญในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111) ทรงได้ช้างสำคัญแม่ลูกจากตำบลป่ามหาโพธิ ดังนั้น ป่าตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จึงยังคงมีหน่วยพันธุกรรมของช้างสำคัญ ที่เป็นเครือญาติกับ "พังแต๋น" หรือ พระศรีเศวตรศุภลักษณ์ฯ ซึ่งเป็นช้างที่ประสบอุบัติเหตุถูกกระสุนปืนแล้วได้รับการรักษาพยาบาล ต่อมาพบว่าเป็นช้างสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงให้มีพระราชพิธีสมโภชพระราชทานนาม และขึ้นระวางในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

          อย่างไรก็ตาม ช้างเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่จำนวนมากในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก และเป็นมรดกที่ตกทอดอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ มาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาจนเหลือมาถึงปัจจุบัน ซึ่งป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เคยเป็นป่าพื้นเดียวกับดงพญาเย็น แต่ป่าดงพญาเย็นก็หมดไปแล้ว ปัจจุบันป่ารอยต่อเองก็เริ่มมีจุดที่ทำให้ผืนป่าแยกออกจากกัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อช้างป่าอย่างมาก โดยในอดีตพื้นป่าภาคตะวันออกมีพื้นที่มากกว่า 5 ล้านไร่ ตอนนี้พื้นที่เหลือเพียง 1.3 ล้านไร่เท่านั้น เมื่อประชากรช้างเพิ่มขึ้นปัญหาระหว่างช้างกับคนก็เริ่มขึ้นเช่นกัน หากจะแก้ไขก็ควรมีวิธีการจัดการที่ละมุนละม่อม เพราะช้างเหล่านี้ คือ ลูกหลานช้างมรดกผืนป่าตะวันออก

ถนนผ่าป่าเขาอ่างฤาไน

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thipdhida Satdhathip



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำนาน.. ถนนผ่าป่าเขาอ่างฤาไน แหล่งมรดกลูก-หลานช้าง ผืนป่าตะวันออก อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13:12:02 52,803 อ่าน
TOP
x close