x close

เพจโลจิสติกส์ แจงอีกมุม เคลียร์ความเข้าใจผิดจาก จม. ลาตาย พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค



           เพจโลจิสติกส์ ออกโรงแจงอีกมุม เคลียร์ความเข้าใจผิดที่อาจเกิดจากจดหมายลาตาย พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ยันรถไฟรางคู่ 1 เมตร ประสิทธิภาพทัดเทียมรางเกจอื่น ๆ และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ ชี้การสร้างออโต้บาห์น เกินจำเป็นสำหรับไทย

           กลายเป็นข่าวใหญ่ที่มีคนพูดถึงกันมากที่สุดขณะนี้ สำหรับกรณี พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ที่ปิดฉากชีวิตด้วยการกระโดดลงจากชั้น 7 ในห้างสรรพสินค้า พร้อมทิ้งจดหมายลาตายฝากคนข้างหลังให้เดินหน้าสานต่อภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ คัดค้านการสร้างรถไฟรางคู่ ขนาด 1.000 เมตร คัดค้านการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ รวมถึงผลักดันให้สร้างถนน Autobahn (ออโต้บาห์น) พร้อมระบุว่า "ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่มีใครรู้เรื่อง เพราะสื่อช่วยกันปกปิดและส่งเสริม"

           โดยพบว่าก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. สล้าง เคยออกมาพูดถึงแนวคิดเรื่องการคมนาคมในไทย เมื่อปี 2556 โดยใจความตอนหนึ่งได้มองว่าหากไทยสร้างรางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดสากล จะสามารถเชื่อมต่ออีกหลายประเทศได้ ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังจะสร้างรางรถไฟ 1 เมตร [อ่านข่าว : พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ฝากแนวคิดเรื่องรถไฟไทย กับปมที่ค้านรัฐสร้างราง 1 เมตร]
           จากเรื่องดังกล่าว ทำให้หัวข้อเรื่องการก่อสร้างรถไฟรางคู่ในไทยกลายมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในสังคม และนำมาซึ่งข้อสงสัยต่าง ๆ อย่างไรก็ตามล่าสุด (26 กุมภาพันธ์ 2561) ทางเพจ Logistics & Deveropment Thailand Forum ก็ได้ออกมาเผยข้อมูลอีกมุม หวังแก้ไขความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเนื้อความที่ระบุในจดหมายลาตายของ พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค

           โดยชี้ว่าจาก 3 ประเด็นหลักในจดหมาย คือ การคัดค้านการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับหลายสายในกรุงเทพฯ คัดค้านการสร้างรถไฟทางคู่ขนาด meter gauge และการสนับสนุนการสร้างออโต้บาห์น นั้น

           ประเด็นที่ 1 พล.ต.อ. สล้าง กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของรถไฟรางคู่ขนาด 1.000 เมตร โดยมองว่าเป็นเกจที่ไม่ได้มาตรฐาน แคบเกินไป จึงเห็นสมควรเปลี่ยนเป็น 1.435 เมตร หรือ standard gauge เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความมั่นคง น้ำหนักบรรทุก และความเร็ว

ขอชี้แจงว่า...

           1. ราง standard gauge เป็นเพียงชื่อสั้น ๆ ของคำว่า European standard gauge เท่านั้น เพราะเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในแถบยุโรปตะวันตก มิได้หมายถึงขนาดรางมาตรฐานสากลแต่อย่างใด

           2. ราง meter gauge มีประสิทธิภาพทัดเทียมรางเกจอื่น ๆ ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างดีพอ ถ้าหากประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟทางคู่บนเส้นทางสายหลัก รวมถึงการจัดหารถไฟดีเซลรางใหม่เสร็จ รถไฟทางคู่ไทยนั้นจะสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต่อให้ไทยลงทุนมหาศาลไปใช้ราง standard gauge ก็จะทำความเร็วได้ไม่ถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่ดี เนื่องจากหลายปัจจัย

           3. ราง meter gauge สามารถทำให้ประเทศไทย เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจาก ทุกประเทศรอบประเทศไทยนั้น ใช้ราง 1.000 เมตร เหมือนกันทั้งสิ้น

           4. ขบวนรถไฟและอุปกรณ์แทบทุกอย่างสําหรับราง 1.000 เมตร ยังมีการผลิตขึ้นในสายการผลิตต่าง ๆ ทั่วโลก

           5. ในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร อยู่เช่นกัน แต่ไม่ใช่รถไฟทางคู่ธรรมดา แต่เป็นทางคู่แบบพิเศษรองรับรถไฟความเร็วสูง (250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) โดยจะสร้างขนานไปกับทางคู่เดิม โดยมี 1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และอีก 2 โครงการอยู่ในระหว่างการพิจารณา คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-ระยอง


           จากทั้ง 5 ข้อนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลถึงเร่งพัฒนา ทางคู่ทั้ง 2 รูปแบบไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยน หรือไปยุ่งกับราง 1.000 เมตรเดิม ให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น

           ประเด็นที่ 2 พล.ต.อ. สล้าง คัดค้านการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยกระดับ เนื่องจากบดบังทัศนียภาพ ในเรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดไปจากความจริง เว้นเสียแต่ว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างรถไฟใต้ดินนั้นมีราคาสูงกว่าสร้างลอยฟ้าถึง 3 เท่าในระยะทางเท่า ๆ กัน อีกทั้งจากการศึกษาต่าง ๆ จากองค์กรในและนอกประเทศ มีผลสรุปว่า การสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในเขตเมือง และยกระดับในเขตชานเมือง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และขออย่าคัดค้านโครงการเหล่านี้ เพราะหากโครงการหนึ่งล่าช้าไปเพียง 5 ปี การจราจรในกรุงเทพฯ คงวิกฤตขึ้นจนน่ากลัว

           ในประเด็นที่ 3 การสนับสนุนการก่อสร้างถนนออโต้บาห์น ตามแบบทางหลวงของเยอรมนี โดยมีลักษณะเฉพาะคือการทำความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ก็ได้ รองรับซูเปอร์คาร์แทบทุกประเภท จนถึงรถบรรทุกขนสินค้า น้ำหนักหลายสิบตัน

ขอชี้แจงว่า...

           1. ถนนที่เป็นไฮเวย์คุณภาพสูงไม่จำเป็นต้องเป็นออโต้บาห์น ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีถนนที่สามารถเรียกได้ว่าติดมาตรฐานไฮเวย์สากลได้หลายสายอยู่แล้ว

           2. ด้วยค่าบำรุงรักษาถึง 23 ล้านบาทต่อปีต่อ 1 กิโลเมตร การจะสร้างโครงข่ายออโต้บาห์น ให้ครอบคลุมเส้นทางหลักผ่านพื้นที่สำคัญของประเทศไทย ระยะทางประมาณ 8,400 กิโลเมตร นอกจากจะมีราคาสูงมากแล้ว ค่าบำรุงรักษาก็ย่อมสูงเช่นกัน

           3. ประเทศไทยมิใช้ฮับการผลิตรถยนต์ประเภทสปอร์ตหรือซูเปอร์คาร์ รถยนต์บนถนน ส่วนใหญ่ในไทยเป็นรถกระบะ หรือรถ SUV ดังนั้นการสร้างออโต้บาห์นจึงแลดูเกินจำเป็น

ทั้งนี้สำหรับรายละเอียดเต็ม ๆ สามารถเข้ามาอ่านได้ตามโพสต์ด้านล่างนี้


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Logistics & Deveropment Thailand Forum

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจโลจิสติกส์ แจงอีกมุม เคลียร์ความเข้าใจผิดจาก จม. ลาตาย พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11:07:48 40,214 อ่าน
TOP