x close

เปิดปม ณพ ณรงค์เดช ถูกครอบครัวตัดพ้นกงสี ปูดโกงเจ้าหนี้ กู้แล้วไม่จ่าย


 ณพ ณรงค์เดช

         เปิดปม ณพ ณรงค์เดช ถูกครอบครัวขับพ้นกงสี เผยลากคนในตระกูลเข้ามาโดนคดีโกงเจ้าหนี้ นอกจากนั้น มีข้อมูลด้วยว่าธุรกิจ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด  ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่นี้ ฝ่ายนายณพได้ซื้อหุ้นต่อจาก"เสี่ยนพพร" ผู้ต้องหามาตรา 112  

         จากกรณีข่าว ตระกูลณรงค์เดช แถลงตัดขาด ณพ ณรงค์เดช ออกจากธุรกิจครอบครัวในนาม บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า หลังจากนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ ณพ ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวในเรื่องเงินทุนในการซื้อหุ้นใน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) แต่ทางครอบครัวไม่มีส่วนในการรับรู้รายละเอียดของการดำเนินการ แถมยังรู้แค่ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยตามสาธารณะที่เป็นข่าวต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของครอบครัว [อ่านข่าว : ตระกูลณรงค์เดช แถลงตัดขาด ณพ ออกจากธุรกิจครอบครัว หลังจากนี้ไม่เกี่ยวกันอีก]
         สำหรับปมการออกแถลงการณ์ของ บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในครั้งนี้นั้น สืบเนื่องมาจากการที่ นายณพ ณรงค์เดช ได้ซื้อหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานลมที่มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยมากกว่า 92% จากกังหันลมที่มีมากกว่า 250 แห่ง โดยเจ้าตัวกำลังจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

         ต่อมา กลุ่มผู้ถือหุ้น WEH ได้ร่วมกันฟ้องดำเนินคดีกับ นายณพ และ เคพีเอ็น พร้อมพวกรวม 13 ราย ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท

         สำหรับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) นั้น ตามข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2557 นายนพพร ศุภพิพัฒน์ หรือ นิค ประธานกรรมการบริหาร (ผู้ขายหุ้นบางส่วนให้กับนายณพ ณรงค์เดช) ได้ถูกออกหมายจับในฐานะผู้จ้างวานให้ผู้ต้องหาในเครือข่ายคดีของ พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ขู่บังคับ นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท

         ซึ่งในระหว่างเจรจามีการข่มขู่ผู้เสียหายและแอบอ้างเบื้องสูง นำมาซึ่งการออกหมายจับพร้อมแจ้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่นสถาบันฯ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ๆ ไม่กระทำการใด ๆ หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นหรือไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป [อ่านเพิ่มเติม : นพพร ศุภพิพัฒน์ ประวัติมหาเศรษฐีหนุ่มคนดัง ผู้พัวพันเครือข่าย พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์]

         อนึ่ง กรณีผู้ถือหุ้น WEH (ฝ่ายนายนพพร) ร่วมกันยื่นฟ้อง ณพ ณรงค์เดช และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (KPNEH) พร้อมพวกรวม 13 ราย ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยการร่วมกันจำหน่ายจ่ายโอนหุ้น หรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของ WEH เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ แม้ว่าจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องและสิทธิบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายแล้ว โดยศาลนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 20 เมษายน 2561 และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 8 พฤษภาคม 2561

 ณพ ณรงค์เดช

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักข่าวอินโฟเควสต์ รายงานว่า โจทก์ในคดีดังกล่าว ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของ WEH เป็นโจทก์ที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ประกอบด้วย

         - บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (SPL)
         - บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด (NGI)
         - บริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด (DLV)

ขณะที่จำเลยที่ 3 ถึง 13 ประกอบด้วย บุคคลในตระกูลณรงค์เดช ได้แก่ 

         - นางพอฤทัย ณรงค์เดช
         - นายกฤษณ์ ณรงค์เดช
         - นายเกษม ณรงค์เดช

รวมทั้งผู้บริหารและกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องในคดี ได้แก่

         - นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์
         - นายธันว์ เหรียญสุวรรณ
         - บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด (KPNET)
         - นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์, นายอมาน ลาคานี
         - นายสันติ ปิยะทัต
         - นายไพร บัวหลวง
         - นายวรนิต ไชยหาญ


         สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2558 นายณพ ได้เจรจาซื้อหุ้นในบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น (REC)  ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น KPNET ที่โจทก์ร่วมกันถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 98.94% เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้น WEH ที่ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายโครงการในประเทศไทยในราคา 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 23,744 ล้านบาท

 ณพ ณรงค์เดช

         โดยขั้นแรกให้โอนหุ้น 49% ใน REC ให้แก่ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (Fullerton) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ที่มีนายณพ เป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และขั้นที่ 2 ให้โอนหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้แก่ KPNEH ที่มีนายณพ ถือหุ้นอยู่ 40% และมีจำเลยอื่น ๆ ร่วมถือหุ้นส่วนที่เหลือ

 ณพ ณรงค์เดช

         ปรากฏว่า เมื่อโอนหุ้นทั้งหมดแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินงวดแรกได้ตามกำหนดจำนวน 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,027.36 ล้านบาท แม้ว่าจะยอมจ่ายเงินราว 90.51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,070.28 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าหุ้นงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระล่าช้า และยังเพิกเฉยที่จะชำระให้ครบ อีกทั้งยังได้กระทำผิดสัญญาซื้อ-ขายหุ้นอีกหลายประการ ดังนั้น โจทก์จึงร่วมกันนำเรื่องเข้าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดสัญญาซื้อ-ขายหุ้นกับ Fullerton และ KPNEH ต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC)

         ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำตัดสินชี้ขาดให้ Fullerton และ KPNEH ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งจำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ชำระเงินตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ ให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการฯ ทำหนังสือแจ้งให้รายงานสถานะของหุ้น KPNET เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 กลับพบว่ามีการโอนหุ้น WEH ที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวของ KPNET ที่มีมูลค่าสูงกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปให้บุคคลภายนอกตั้งแต่ไตรมาส 2/2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระเงินค่าหุ้นและได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการฯ แล้ว แต่จำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือยินยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีนายเกษม ณรงค์เดช จำเลยที่ 13 ในฐานะผู้รับโอนหุ้น WEH

 ณพ ณรงค์เดช

         การโอนหุ้น WEH ออกไปมีผลให้ Fullerton และ KPNEH ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากพอที่จะนำมาชำระหนี้ค่าหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ยังได้ร่วมกันปกปิด ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวมิให้โจทก์ทั้งสามทราบ ด้วยการใช้อำนาจกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้งในทางตรงและทางอ้อมของ WEH และ KPNET ดำเนินการมิให้ WEH แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของ WEH ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสามมีหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย

         ทั้งนี้ การดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นของจำเลยทั้งหมดเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 876,522,933.77 เหรียญสหรัฐ หรือ 29,731,658,521.66 บาท

          อย่างไรก็ตาม นายณพเองก็ได้ออกมาโต้ในประเด็นนี้ว่า ฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายผู้ขายหุ้น (กลุ่มนายนพพร) มีเจตนาฟ้องเท็จ และให้ข่าวไม่มีมูลความจริง ขอยืนยันว่าตนได้หุ้นกลุ่ม WEH มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงชำระเงินตามสัญญาไปแล้ว ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ขายหุ้นประสบปัญหาทำให้ต้องหนีไปต่างประเทศ (นายนพพรโดนคดี ม.112) จึงพยายามเร่ขายหุ้นให้กลุ่มทุนต่าง ๆ แต่ขายไม่ได้ เพราะสภาพกิจการไม่ดี ฝ่ายของตนจึงรับความเสี่ยงเข้าไปซื้อหุ้นดังกล่าวมา พร้อมกับฟื้นฟูจนกิจการดีขึ้น กระทั่งเป็นเหตุให้ผู้ขายอยากได้หุ้นคืน

ภาพจาก kpngroup.co.th, KPN Music Academy
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
gmlive.com, สำนักข่าวอินโฟเควสต์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดปม ณพ ณรงค์เดช ถูกครอบครัวตัดพ้นกงสี ปูดโกงเจ้าหนี้ กู้แล้วไม่จ่าย อัปเดตล่าสุด 2 พฤษภาคม 2561 เวลา 16:56:37 123,528 อ่าน
TOP