ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ได้มีมติรับรองบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเภทของโรค และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการระบุว่า รักร่วมเพศ (Homosexual) หรือความพึงพอใจในเพศเดียวกันนั้น ไม่จัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช จากนั้นในปี 2547 จึงได้มีการจัดตั้ง วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ขึ้นมา หรือ International Day against Homophobia มีชื่อย่อว่า I.DA.HO เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ไม่ว่าจะเป็น Lesbian (เลสเบี้ยน), Gay (เกย์), Bisexual (ไบเซ็กชวล) และ Transgender/Transsexual (คนข้ามเพศ) รวมทั้งให้การสนับสนุนนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับกลุ่ม LGBT
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการเพิ่มคำว่า เกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) เข้าไปในชื่อวันสำคัญดังกล่าวด้วย เพื่อชี้ชัดให้เห็นถึงความแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องรสนิยมทางเพศ หรือเพศวิถี และการแสดงออกทางเพศ วันสำคัญดังกล่าวจึงใช้ว่า International Day Against Homophobia and Transphobia หรือชื่อย่อว่า IDAHOT กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้มีการเพิ่มคำว่า เกลียดกลัวคนรักสองเพศ (Biphobia) เข้าไปอีกหนึ่งคำ เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาแบบชี้เฉพาะที่ชาวรักร่วมเพศต้องเผชิญ
จนถึงปัจจุบัน วันสำคัญดังกล่าวได้ใช้ชื่อเต็ม ๆ ว่า วันสากลยุติความเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia : IDAHOTB) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการแบ่งแยกในสังคมที่กลุ่ม LGBT ได้เผชิญ และต้องการส่งสารไปยังรัฐบาลและสื่อสาธารณะให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
วันสากลยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหลายประเทศ รวมไปถึงสถาบันระดับสากล เช่น สภายุโรป โดยปัจจุบันมีมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกที่ออกมาร่วมเฉลิมฉลองให้กับวันสำคัญดังกล่าว โดยจำนวนนี้มี 37 ประเทศที่กฎหมายรับรองเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ในวันสากลยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ทุก ๆ ปีจะมีธีมที่แตกต่างกันออกไป อย่างเมื่อปี 2018 ที่มีชื่อธีมว่า Alliances for Solidarity หรือพันธมิตรเพื่อความเป็นปึกแผ่น โดยทางเว็บไซต์ dayagainsthomophobia.org ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับธีมวันสำคัญปีนั้นว่า ไม่มีการต่อสู้ครั้งไหนที่สามารถคว้าชัยชนะมาได้โดยลำพัง ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมกำลังจากพันธมิตร ทั้งจากพันธมิตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงหาผู้สนับสนุนใหม่ที่จะช่วยให้กลุ่ม LGBT มีเสียงดังมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อกลุ่ม LGBT ในสังคมทั่วโลก
ภาพจาก dayagainsthomophobia.org
ขอบคุณข้อมูลจาก who.int, dayagainsthomophobia.org, apa.org, dayagainsthomophobia