x close

ผู้บริหาร ปตท. คลายทุกข้อสงสัย เหตุใดน้ำมันไทยถึงแพง - ผูกขาดจริงหรือไม่ ?

            เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ออกมาโพสต์ด้วยตัวเอง หลังเกิดกระแสข่าวในโซเชียลว่า ปตท. ทำให้น้ำมันในประเทศสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ผูกขาด เอาเปรียบคนไทย ชี้แจงทุกข้อสงสัย จริงเท็จประการใดต้องดู !
 

            จากกรณีที่เกิดกระแสข่าว ออกมาโจมตี ปตท.ทั้งเรื่องการผูกขาดน้ำมัน จนส่งผลให้น้ำมันในเมืองไทยสูงกว่าน้ำมันจากเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย รวมถึงข่าวว่า ปตท. แอบขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่องโดยไม่บอกประชาชน คุณภาพน้ำมันต่ำกว่ามาตรฐาน และอีกหลายปัจจัย ทำให้ล่าสุด (26 พฤษภาคม 2561) เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Tevin at PTT  พร้อมกับชี้แจงทุกข้อสงสัย ในสื่อโซเชียลดังนี้

             ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาที่บอกว่า ปตท. ขายน้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้านนั้น มีทั้งที่แพงกว่าและถูกกว่า โดยในอาเซียนเอง มาเลเซียมีราคาน้ำมันต่ำสุด เนื่องมาจากการส่งออกและผลิตก๊าซมาก ทำให้มาเลเซียแทบไม่เก็บภาษีจากผู้ใช้ ส่วนสิงคโปร์มีราคาน้ำมันที่แพงที่สุด เพื่อจำกัดการใช้รถยนต์ ส่วนในไทยและประเทศอื่น ๆ ที่นำเข้าน้ำมันนั้น จะต้องมีการเกบภาษีสรรพสามิต เพื่อนำเงินที่ได้มาสร้าง - ซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต่อไป

             ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ปตท. กำไรเยอะมาก จากการผูกขาดน้ำมัน ถือเป็นเรื่องที่ไม่จริง เนื่องจากธุรกิจค้าน้ำมันเป็นตลาดเสรี ผู้ค้าน้ำมันกว่า 30 รายในประเทศสามารถตั้งราคาได้เอง อีกทั้ง ปตท. เอง จะปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาค่าการตลาด 1.60-1.80 บาทต่อลิตร และนำเงินจำนวนนี้ แบ่งให้ดีลเลอร์ เจ้าของปั๊ม ซึ่งไม่เพียงพอต่อการลงทุน จึงทำให้ ปตท. ต้องมีการเปิดร้านสะดวกซื้อ - ร้านค้าในปั๊ม เพื่อหารายได้อีกทาง

             ปตท. ได้กำไรทั้งหมด 10% จากน้ำมันเท่านั้น ส่วนกำไรที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น ก๊าซ การสำรวจและผลิต รวมถึงโรงกลั่นปิโตรเคมี



             อย่างไรก็ตาม สิ้นปี 2560 ปตท. มีทรัพย์สินรวมกันทั้งหมด 2.23 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 135,000 ล้าน คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

             ส่วนกรณีที่ ปตท. สามารถผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศได้มาก และควรนำเงินจำนวนนั้นมาอุดหนุนราคา ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะ ปตท.สผ. ผลิตก๊าซและน้ำมันได้เพียง 30% ของการผลิตในประเทศ และ 10% ของพลังงานทั้งหมด รายได้จึงไม่เพียงพอจะนำมาอุดหนุนราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังต้องการการสำรองรายได้เพื่อขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

             ส่วนกรณีที่มีคนมองว่า นายทุนรายใหญ่อยู่เบื้องหลัง ปตท. นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ที่ถือหุ้นนั้นคือ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ 63.5% และ 32% คือสถาบันการเงินปละกองทุน มีเพียง 4.5% ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่านั้น

             ในส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ชี้แจงนั้น สามารถอ่านได้จาก ที่นี่ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้บริหาร ปตท. คลายทุกข้อสงสัย เหตุใดน้ำมันไทยถึงแพง - ผูกขาดจริงหรือไม่ ? โพสต์เมื่อ 29 พฤษภาคม 2561 เวลา 09:47:06 23,680 อ่าน
TOP