x close
hilight > ข่าวฮิตสังคมออนไลน์

อย่าเพิ่งดราม่า ! ฟังชัด ๆ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ขอบคุณ อีลอน มัสก์ เรื่องเรือดำน้ำจิ๋ว

| 99,127 อ่าน

 

           อีลอน มัสก์ ทวีตโต้ตอบ หลัง BBC ตีข่าวผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ผบ.ศอร.)  ปฏิเสธไม่ใช้เรือดำน้ำจิ๋ว เพราะไม่เหมาะกับภารกิจนี้ - เปิดคลิปพิสูจน์ชัด ผู้ว่าฯ ตอบประเด็นนี้ตอนแถลงข่าว บอกขอบคุณ และขอรับความอุปการะไว้ แต่ยังไม่ได้ใช้ในภารกิจถ้ำหลวง

 

           อีลอน มัสก์ CEO บริษัท เทสลา และ Space X ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ความสนใจกับข่าวทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง พร้อมกับที่เขาเองได้ระดมทีมวิศวกร ออกแบบกระสวยกู้ชีพ ที่มีลักษณะคล้ายเรือดำน้ำขนาดเล็ก ๆ ที่คาดว่าจะสามารถใช้ลำเลียงเด็ก ๆ ออกมาจากถ้ำได้ และมาลงที่หน้างานที่จังหวัดเชียงรายด้วยตัวเอง (อ่านเพิ่มเติม : อีลอน มัสก์ มาเอง ! ส่งมอบกระสวยกู้ชีพ ลงหน้างาน เดินเข้าไปถึงโถง 3
 
           ทั้งนี้ แม้ว่ากระสวยที่ผลิตจากชิ้นส่วนของจรวดฟอลคอนของ อีลอน มัสก์ จะไม่ได้ใช้ในภารกิจนี้ แต่ อีลอน มัสก์ ก็ได้ทิ้งกระสวยนี้เอาไว้ ด้วยหวังว่ากระสวยนี้จะมีประโยชน์ในอนาคต 
 
           อย่างไรก็ตาม จู่ ๆ ก็เกิดดราม่าขึ้นมาทันควัน เมื่อเว็บไซต์บีบีซี ที่รายงานเกาะติดเรื่องนี้ ได้รายงานถึงคำพูดของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศอร. ที่บอกว่า "อุปกรณ์ที่พวกเขาขนมาเพื่อช่วยเหลือเรานั้น ใช้ไม่ได้จริงในปฏิบัติการครั้งนี้ และแม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีเป็นอย่างสูง แต่ก็ยังไม่เหมาะสำหรับภารกิจของเราที่ต้องเข้าไปในถ้ำ" ทั้งนี้ ในประโยคต่อท้ายคำพูดดังกล่าว บีบีซีได้ระบุตำแหน่งนายณรงค์ศักดิ์ว่าเป็น Thai Rescue Chief (หัวหน้าหน่วยกู้ภัยของไทย) หรือก็คือหมายถึงตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ผบ.ศอร.)  นั่นเอง   
 
           เรื่องนี้ทำให้ อีลอน มัสก์ ออกมาเขียนแย้ง "บีบีซี" อย่างทันควัน ด้วยการทวีตข้อความว่า "อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายของไทย (ที่ถูกบรรยายอย่างผิด ๆ ว่าเป็น หัวหน้าหน่วยกู้ภัย) ต่างหาก ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในภารกิจนี้คือ นายริชาร์ด สแตนตัน ซึ่งร่วมเป็นผู้นำให้กับทีมดำน้ำ และนี่คือจดหมายโต้ตอบกันระหว่างเรา"
 
           ทั้งนี้ ในจดหมายดังกล่าว เป็นอีเมลระหว่างนายริชาร์ด สแตนตัน หนึ่งในนักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ 2 คนที่ไปเจอกับเด็ก ๆ ได้พูดคุยกับนายอีลอน มัสก์ ซึ่งนายริชาร์ด ได้ส่งอีเมลไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เนื้อหามีดังนี้

           นายสแตนตัน ถึง อีลอน มัสก์ : เราเองเป็นห่วงเกี่ยวกับเด็กที่เล็กที่สุด ช่วยประดิษฐ์และบอกข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องแคปซูลช่วยชีวิตด้วย
 
           อีลอน มัสก์ ถึง นายสแตนตัน : ตอนนี้กำลังประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ และจะนำไปทดสอบใต้น้ำในอีกไม่กี่ชั่วโมง แล้วเดี๋ยวเราจะส่งภาพและคลิปไปให้ อย่างไรก็ตาม ผมเองยังไม่อยากจะส่งแคปซูลขึ้นเครื่องบินไป ถ้าคุณคิดว่ามีจุดสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยน หลักการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจก็เหมือนกับการออกแบบจรวด คือ ห้ามไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตแม้ว่าต้องล้มเหลว 2 ครั้งก็ตาม
 
           นายสแตนตัน ถึง อีลอน มัสก์ : แน่นอนว่ามันคุ้มค่าอย่างมากที่จะพัฒนาระบบนี้ในเวลาที่เหมาะสมอย่างตอนนี้ ถ้าหากฝนกระหน่ำลงมาอีก เราอาจจะได้ใช้งาน
 
           อีลอน มัสก์ ถึง นายสแตนตัน : เข้าใจแล้วครับ ตอนนี้เรามีหนึ่งในทีมวิศวกรที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งปกติเป็นคนออกแบบจรวดและออกแบบชุดอวกาศ กำลังทำงานนี้ตลอด 24 ชั่วโมง เราพยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด
 
           และถ้าหากกระสวยนี้จะไม่ได้ใช้หรือไม่ช่วยในเรื่องนี้ ก็คงจะดีถ้าได้รู้ มิฉะนั้น ก็คงจะช่วยได้มาก หากจะมีแนวทางการออกแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

           จากนั้น อีลอน มัสก์ ก็ได้ตอบกลับไปยัง บีบีซี ว่า "นอกจากนั้น จากคลิปวิดีโดรีวิวถ้ำเพิ่มเติม และการหารือกับนักดำน้ำจำนวนมากที่รู้ถึงเส้นทางในภารกิจนี้ วิศวกรของ Space X มีความมั่นใจแน่นอนว่า กระสวยกู้ชีพ (เรือดำน้ำจิ๋ว) สามารถช่วยได้ตลอดทั้งภารกิจ และสามารถทำงานได้ในทันที" และนายแลนซ์ อลานอฟ นักเขียนด้านไอที ก็เข้ามาทวีตถามว่า "แล้วจะทำอย่างไรกับกระสวยกู้ชีพต่อไป" ซึ่งนายอีลอน มัสก์ ก็ตอบว่า "ถือเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในสภาวะเสี่ยงอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำเสีย แก๊สพิษ หรืออันตรายจากไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เพื่อให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในที่แห้งและมีความดันอากาศที่ดีตลอดเวลา" 
 
           อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น ท่านผู้ว่าฯ ได้แถลงถึงเรื่องกระสวยเอาไว้อย่างสุภาพนอบน้อม ระบุว่า "รับการอุปการคุณจากเขา แต่ก็ยืนยันว่าอุปกรณ์ที่เขานำมาช่วยเหลือเรายังไม่เข้ากับภารกิจของเรา ยืนยันตรงนี้ แต่เราก็รับความดูแลนะครับ เพราะว่าอุปกรณ์ของเขาเป็นอุปกรณ์ที่ถึงแม้ว่าจะมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีก็จริง แต่ไม่สามารถที่จะเข้าภารกิจในถ้ำของเราได้"
 
           ทั้งนี้ ปฏิบัติการของพาน้อง ๆ ทีมหมูป่าออกมา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม และสิ้นสุดในวันที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งคาดว่า ท่านผู้ว่าฯ ได้เริ่มปฏิบัติตามแผนงานการเคลื่อนย้ายเด็ก ๆ ผ่านการใช้นักดำน้ำแล้ว และผลที่ออกมาคือ ทุกคนปลอดภัย ซึ่งกว่าที่กระสวยของอีลอน มัสก์ จะมาถึงนั้น ก็ประมาณวันที่ 10 กรกฎาคมแล้ว นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้ว่าฯ จึงยังคงใช้แผนเดิมต่อไป
 
(หมายเหตุ : เนื้อหามีการอัพเดตแก้ไขข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 14.50 น. โดยจุดปรับแก้ คือ เนื้อหาเดิมที่ระบุว่า อีลอน มัสก์ โต้ตอบผู้ว่าฯ แก้ไขเป็น อีลอน โต้ตอบบีบีซีเรื่องการลงตำแหน่งผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์เป็นหัวหน้าทีมกู้ภัยถ้ำหลวง โดยอีลอนระบุว่าผู้ว่าฯ ไม่ใช่หัวหน้าทีมกู้ภัย แต่หัวหน้าทีมคือนายริชาร์ด สแตนตัน)
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย่าเพิ่งดราม่า ! ฟังชัด ๆ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ขอบคุณ อีลอน มัสก์ เรื่องเรือดำน้ำจิ๋ว อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 13:33 99,127 อ่าน
TOP