x close
hilight > ข่าววิทยาศาสตร์

นักวิทย์ฯ พลิกตำราวิทยาการ ปลุกชีพพยาธิแช่แข็ง 4.2 หมื่นปี อีกการค้นพบครั้งสำคัญ

| 11,178 อ่าน

 

           นักวิทยาศาสตร์รัสเซียปลุก พยาธิตัวกลม 2 ตัว อายุ 32,000 ปี และ 42,000 ปี ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ยุคไพลสโตซีน ชี้เป็นการค้นพบครั้งใหญ่ ที่อาจพลิกวงการวิทยาศาสตร์โลก

           หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ การแช่แข็งหยุดเวลา กันมาบ้าง แนวคิดนี้พบเห็นบ่อยครั้งในนิยายหรือภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่นการให้ลูกเรือบนยานอวกาศนอนเฉย ๆ ในอุปกรณ์แช่แข็งคล้ายกับการจำศีล ขณะออกเดินทางไปยังกาแล็กซีอันไกลโพ้น สำหรับโลกของความเป็นจริงนั้น ในแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ก็ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สถาบันวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย ในการนำ พยาธิหนอนตัวกลม (Nematodes) ราว ๆ 300 ตัว มาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการไครโอนิกส์ (Cryonics) หรือการแช่แข็งมนุษย์

 

           ในบรรดาปรสิตเหล่านี้ มีอยู่ 2 ตัวที่พิเศษไปจากตัวอื่น ๆ แน่นอนว่าพวกมันเป็นสัตว์ในสปีชีส์เดียวกัน รูปร่างหน้าตาก็เหมือน ๆ กัน แต่สิ่งที่ 2 ตัวนี้แตกต่างไปก็คือ พวกมันมีอายุหลายหมื่นปีแล้ว

           จากการรายงานของเว็บไซต์ไซบีเรียนไทม์ส เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ระบุว่า พยาธิหนอนตัวกลมทั้ง 2 ตัวนี้ ถูกพบเจอในจุดที่ไม่ห่างจากกันมากนัก ตัวหนึ่งถูกพบในโพรงกระรอกเก่าแก่ บริเวณชั้นหินดูแวนนียาร์ ลุ่มแม่น้ำโคลีมา ไม่ไกลจากอุทยานไพลสโตซีน พื้นที่อนุรักษ์สำหรับศึกษาสิ่งมีชีวิตในยุคน้ำแข็ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐซัคคา หรือยาคูเตีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ส่วนอีกตัวถูกพบเมื่อปี 2558 มันอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) บริเวณแม่น้ำอลาเซยา ในพื้นที่สาธารณรัฐซัคคา เช่นกัน

 

           ความน่าทึ่งของหนอนตัวกลม 2 ตัวนี้คืออายุของพวกมัน โดยพวกมันมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็ง ตัวที่ถูกพบแถว ๆ แม่น้ำโคลีมา มีอายุประมาณ 32,000 ปี และอีกตัวที่พบแถว ๆ แม่น้ำอลาเซยา มีอายุ 41,700 ปี หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าการพบหนอนแช่แข็ง 2 ตัว มันน่าทึ่งตรงไหน และมีความสำคัญอย่างไร คำตอบของข้อสงสัยนี้ก็ได้รับคำตอบ หลังจากที่หนอนตัวกลมทั้ง 2 ตัวนี้ถูกส่งมายัง ห้องแล็บของสถาบันเคมีเชิงฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพดิน ในกรุงมอสโก

 

           ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันนี้ ได้นำหนอนตัวกลม 2 ตัว ที่คาดว่าน่าจะเป็นเพศเมีย ไปใส่ในจานเพาะเชื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พวกมันยังมีชีวิตอยู่ เหมือนทั้ง 2 พวกมันยังไม่ตาย ทั้งทีหลับใหลอยู่นิ่ง ๆ มาเป็นเวลาหลายหมื่นปี

 

           "เราได้เก็บตัวอย่างสัตว์หลายเซลล์มาจากชั้นดินเยือกแข็งแถบขั้วโลกเหนือ เพื่อนำมาศึกวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการไครโอนิกส์ ซึ่งก็คือการแช่แข็งที่คงสภาพเซลล์เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตได้เป็นระยะเวลานาน พวกเราพบว่าเมื่อนำหนอนตัวกลม 2 ตัวนี้มาละลายน้ำแข็ง พวกมันก็แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการมีชีวิต พวกมันเริ่มขยับตัว เริ่มเคลื่อนไหว และกิน" นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ กล่าว

 

           การค้นพบที่น่าทึ่งนี้ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถนำไปสู่การศึกษาชีวดาราศาสตร์ในแง่มุม ใหม่ ๆ ทั้งการกำเนิดและการวิวัฒนาการ รวมไปถึงการศึกษากระบวนการไครไอนิกส์ ที่ลึกซึ้งมากขึ้น จากเดิม เพราะโลกได้รับรู้แล้วว่า ไม่ได้มีแค่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเท่านั้นที่สามารถสมบุกสมบันมีชีวิตอยู่เป็นเวลานาน ๆ ได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย สัตว์หลายเซลล์ที่ถูกแช่แข็งหยุดเวลาเอาไว้ ก็ยังรอดชีวิตได้เช่นกัน

 

ภาพจาก siberiantimes.com
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิทย์ฯ พลิกตำราวิทยาการ ปลุกชีพพยาธิแช่แข็ง 4.2 หมื่นปี อีกการค้นพบครั้งสำคัญ อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2561 เวลา 17:01 11,178 อ่าน
TOP