x close

ล้ำยุค ! บริษัทอังกฤษเตรียมฝังไมโครชิปลูกจ้าง หวังยกระดับความปลอดภัย

          บริษัทหลายแห่งในสหราชอาณาจักร เตรียมฝังไมโครชิปให้กับพนักงาน เพื่อยกระดับความปลอดภัย และทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ด้านภาครัฐแสดงความกังวล ชี้เป็นสิ่งน่าอึดอัด ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวลูกจ้าง บริษัทควรไตร่ตรองดี ๆ
ฝังไมโครชิป
ภาพจาก Instagram biohax.tech

          เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า องค์กรและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในสหราชอาณาจักร ได้ก้าวไปสู่อีกขั้นของเทคโนโลยี โดยพวกเขากำลังเตรียมการเดินหน้าฝัง ไมโครชิป (Microchip) ให้กับพนักงาน ไมโครชิปเหล่านี้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดจิ๋ว ใหญ่กว่าเมล็ดข้าวทั่วไปเล็กน้อย จุดที่ใช้ฝังคือบนหลังมือ บริเวณระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง ซึ่งไมโครชิปขนาดเล็กนี้สามารถทำงานได้หลายอย่าง ทั้งยกระดับความปลอดภัย และทำให้การติดต่อสื่อสาร หรือการทำงานของพนักงานง่ายขึ้น

          ไบโอเทค (BioTeq) บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของสหราชอาณาจักร หรือหนึ่งในผู้ผลิตและให้บริการฝังไมโครชิป ทั้งการฝังเฉพาะบุคคลและในบริษัทห้างร้าน โดยปัจจุบัน พวกเขาได้ให้บริการฝังไมโครชิปแก่ลูกค้ามาแล้ว 150 เคส ทั่วสหราชอาณาจักร หลักการทำงานของเจ้าไมโครชิปจิ๋วนี้เรียบง่าย มันสามารถเป็นคีย์การ์ดหรือกุญแจได้ในตัว ทำให้เวลาพนักงานเข้า-ออกสำนักงาน เปิดประตู หรือใช้รถของบริษัท สามารถทำได้แค่เพียงโบกมือหน้าจุดรับสัญญาณเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้แล้ว มันยังสามารถบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพ และประวัติการรักษาพยาบาลของแต่ละบุคคลได้อีกด้วย

          ค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิปของไบโอเทค มีราคาตั้งแต่คนละ 70-260 ปอนด์ (ประมาณ 3,000-11,000 บาท) โดยลูกค้าทั้ง 150 เคส เป็นลูกค้าบุคคลทั้งหมด แต่พวกเขาก็มีบริการฝังไมโครชิปให้แก่บริษัทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน และนอกจากการให้บริการในสหราชอาณาจักรแล้ว ไบโอเทคยังส่งสินค้าไปยังหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน

          อีกหนึ่งบริษัทผู้ให้บริการไมโครชิปที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ไบโอแฮกซ์ (Biohax) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสวีเดน พวกเขาได้ร่วมงานกับบริษัทด้านกฎหมายและการเงินหลายแห่งในสหราชอาณาจักร และตั้งเป้าว่าจะขยายสาขามาเปิดสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอนเร็ว ๆ นี้ โดย โยวาน ออสเตอลุนด์ อดีตช่างเจาะร่างกาย ผู้ก่อตั้งไบโอแฮกซ์ กล่าวว่า ไมโครชิปของทางบริษัทมีราคาอยู่ที่ชิ้นละ 150 ปอนด์ หรือประมาณ 6,400 บาท

          โยวาน กล่าวว่า ไมโครชิปสามารถยกระดับการรักษาความปลอดภัยแก่บริษัทใหญ่ ๆ ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะบริษัทด้านกฎหมายและการเงิน ที่ต้องจัดการเอกสารสำคัญและข้อมูลลับเฉพาะเป็นจำนวนมาก มันจะทำให้บริษัทสามารถตั้งค่าบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้อย่างง่ายดาย

ฝังไมโครชิป
ภาพจาก bioteq.co.uk

          สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมากระดับหลักแสนคนนั้น ทางบริษัทก็สามารถเลือกจำกัดจำนวนพนักงานที่จะฝังได้ ต่อให้เลือกใช้แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ มันก็เป็นจำนวนที่มากเกินพอ และพนักงานเหล่านี้ก็ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนสำหรับเข้า-ออกสถานที่อีกต่อไป

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฝังไมโครชิปจะเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่มันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความกังวลเช่นกัน โดยยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่ปฏิเสธแนวคิดการฝังไมโครชิป และไม่คิดนำมาใช้ นอกจากนี้แล้ว ทางโฆษกสมาพันธ์อุตสาหกรรมของอังกฤษ หรือ ซีบีไอ (CBI - Confederation of British Industry) ผู้ดูแลบริษัทและธุรกิจกว่า 190,000 แห่ง ทั่วสหราชอาณาจักร ได้ออกมาให้ความเห็นว่า สิ่งนี้เป็นอะไรที่น่ากังวลและน่าอึดอัดใจเป็นอย่างมาก

          โฆษกสมาพันธ์อุตสาหกรรมของอังกฤษ กล่าวอีกว่า บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นความสนใจไปที่เรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่านี้ และควรให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกจ้างให้มากขึ้น แต่เทคโนโลยีก็มาทำให้วิธีการทำงานของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

          ทางด้าน ฟรานเชส โอเกรดี เลขาธิการสภาสหภาพแรงงานของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ทางสหภาพแรงงานทราบดีว่าเหล่าลูกจ้าง และพนักงานต่าง ๆ ต่างก็รู้สึกกังวลที่นายจ้างของพวกเขานำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมชีวิต และทำลายความเป็นส่วนตัวที่พึงมี ไมโครชิปเหล่านั้นทำให้นายจ้างมีอำนาจในมือมากขึ้น และสามารถควบคุมพนักงานได้ตลอดเวลา เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลอย่างมาก เหล่านายจ้างควรไตร่ตรองเรื่องนี้ให้มากขึ้น และไม่ควรบังคับให้ลูกจ้างฝังไมโครชิปเช่นกัน

https://twitter.com/biohaxint/status/963141042446000128

https://www.instagram.com/p/BflIyWUA4J8/embed

*** หมายเหตุ - แก้ไขข้อความ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15.41 น.
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล้ำยุค ! บริษัทอังกฤษเตรียมฝังไมโครชิปลูกจ้าง หวังยกระดับความปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15:41:44 8,412 อ่าน
TOP