x close

ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ จนท. ผงะ เจอขยะพลาสติก 146 ชิ้น อัดแน่นในท้อง

         สุดสลด ซากวาฬหัวทุย ยาว 9.5 เมตร ซัดเกยตื้นริมทะเลในอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้าตรวจสอบ พบขยะ 6 กิโลกรัม ในท้อง รวมแล้ว 146 ชิ้น

ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ

         สำหรับพื้นที่ริมชายฝั่งต่าง ๆ นั้น การที่มีสัตว์ทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นตรงบริเวณน้ำตื้น หรือบนหาด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ถ้าเป็นสัตว์ทะเลที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้คนที่พบเห็นอาจช่วยกันพามันกลับลงทะเล หรือไม่ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้เข้ามาช่วย แต่หลาย ๆ ครั้งก็เป็นซากสัตว์ทะเลที่ตายไปแล้ว ดังเช่น วาฬสเปิร์ม หรือ วาฬหัวทุย (sperm whale) ตัวนี้ ซากของมันถูกซัดมาบริเวณน้ำตื้น ไม่ไกลจากชายฝั่งเกาะกาโปตา ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ วากาโตปี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี ของประเทศอินโดนีเซีย

         ตอนแรกเจ้าหน้าที่และผู้คนที่พบเห็นมัน คิดว่ามันก็คงตายด้วยสาเหตุธรรมชาติตามปกติ แต่เมื่อเข้าไปตรวจดูอย่างละเอียด ก็ได้พบความจริงที่น่าสลดใจอย่างมาก

         จากการรายงานของสำนักข่าวบีบีซี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ระบุว่า ซากวาฬหัวทุยตัวนี้ มีความยาวประมาณ 9.5 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปตรวจสอบเพื่อขนย้ายไปกลบฝังนั้น พวกเขาพบว่าสิ่งที่อยู่ในท้องของวาฬตัวนี้ ไม่ได้มีแต่ซากกุ้ง หอย ปู ปลา หรือสิ่งที่เป็นอาหารตามธรรมชาติของมัน หากแต่กลับเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอมที่กินไม่ได้ ประกอบด้วย แก้วน้ำพลาสติก 115 ใบ ถุงพลาสติก 25 ถุง ขวดน้ำพลาสติก 4 ขวด และรองเท้าแตะอีก 2 ข้าง ขยะเหล่านี้อัดแน่นอยู่ในกระเพาะของวาฬ และมันมีน้ำหนักรวมกันเกือบ 6 กิโลกรัม

ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ

         ข่าวการค้นพบครั้งนี้ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่ต่อสู้เพื่อสัตว์มาโดยตลอด โดย ทวี สุปราบตี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ทะเล ประจำองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (WWF - World Wildlife Fund) สาขาประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า มันเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างที่สุด

         การทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลการสำรวจวิจัยทางสิ่งแวดล้อมขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) และศูนย์วิจัยทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม แมคคินเซย์ ในปี 2558 เผยว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งโลกที่ถูกทิ้งลงทะเล เป็นขยะที่มาจาก 5 ประเทศในเอเชีย คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย แม้ว่ามนุษย์อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะลงทะเลมากนัก แต่มันคือความเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์ทะเลโดยตรง

         ในช่วงปลายปี 2560 องค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ในแต่ละปี จะมีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล มากกว่า 10 ตัน และมันส่งผลร้ายแรงต่อสัตว์ทะเลอย่างมาก เพราะเมื่อสัตว์เหล่านี้เห็นพลาสติกลอยละล่องในน้ำ มันแยกไม่ออกว่าเป็นอะไร คิดว่าเป็นแมงกะพรุนแสนอร่อยที่กินได้ และสวาปามลงท้อง ด้วยเหตุนี้ สัตว์ทะเลจึงตายเพราะขยะพลาสติกมากมาย รวมแล้วปีละหลายร้อยตัว

         สำหรับวาฬหัวทุยตัวนี้ ด้วยความที่มันตายมาระยะหนึ่ง ซากของมันเน่าเปื่อยไปมากแล้ว เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถตรวจหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้ และไม่สามารถระบุได้ว่าขยะในท้องของมัน มีส่วนในการตายของมันหรือไม่ แต่มันก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านี่คือผลกระทบจากการที่มนุษย์ทิ้งขยะลงทะเล  และก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายนซากวาฬนำร่อง (pilot whale) ตัวหนึ่ง ถูกพบเกยตื้นในประเทศไทย และภายในท้องของมัน มีขยะรวมกันกว่า 80 ชิ้น

ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ

ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซากวาฬ 9.5 เมตร เกยตื้นที่อินโดฯ จนท. ผงะ เจอขยะพลาสติก 146 ชิ้น อัดแน่นในท้อง อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17:22:38 9,980 อ่าน
TOP