x close

ประกาศราชกิจจาฯ ระเบียบ กกต. เผยหลักเกณฑ์-วิธีสนับสนุนการหาเสียง

 

              ประกาศราชกิจจานุเบกษา ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562

             เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ความว่า

             โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 69 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา 81 และมาตรา 81 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด จึงเป็นการสมควรให้มีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

             อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 69 และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ประกอบกับมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 80/2561 (44) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

             ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

             ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

             ข้อ 3 ความหมายของคำในระเบียบนี้
             - คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
             - เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
             - พรรคการเมือง หมายความว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
             - ผู้สมัคร หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
             - การสนับสนุน หมายความว่า การส่งเสริม การช่วยเหลือ การอุปการะ
             - โฆษณาหาเสียง หมายความว่า การเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ เสียง ของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้แก่ประชาชนเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง
             - การจัดสรรเวลา หมายความว่า การกำหนดเวลาไว้โดยเฉพาะให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองโฆษณาหาเสียงทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือการไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
             - การออกอากาศ หมายความว่า การกระจายเสียงทางวิทยุหรือการกระจายเสียงและแพร่ภาพทางวิทยุโทรทัศน์
             - สถานี หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์
             - การเลือกตั้ง หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป
             - สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หมายความรวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครด้วย
             - ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครด้วย

             ข้อ 4 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น คณะกรรมการอาจกำหนด ยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้

             หมวด 1 การสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

             ข้อ 5 การขอรับการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้แจ้งความประสงค์ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ดังนี้

             - ผู้สมัครแจ้งความประสงค์ต่อผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ในจังหวัดที่ตนสมัคร
             - พรรคการเมืองแจ้งความประสงค์ต่อเลขาธิการ

             ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดนั้น ให้การสนับสนุนการจัดสรรเวลาให้แก่ผู้สมัคร คนละไม่เกิน 5 นาที

             ข้อ 7 ให้เลขาธิการขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ ให้การสนับสนุนจัดสรรเวลาให้แก่พรรคการเมือง พรรคละไม่เกิน 10 นาที

             ข้อ 8 ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดทำวัสดุเผยแพร่สำหรับการออกอากาศตามมาตรฐานของสถานี และมีความยาวไม่เกินเวลาตามข้อ 6 และข้อ 7 วัสดุเผยแพร่สำหรับการออกอากาศที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดทำตามวรรคหนึ่ง ต้องใช้ข้อความ ถ้อยคำที่สุภาพและรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

             ข้อ 9 ให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ส่งวัสดุเผยแพร่สาหรับการออกอากาศให้ผู้รับแจ้ง ตามข้อ 5 และภายในระยะเวลาที่ผู้รับแจ้งกำหนด ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ประสงค์ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามที่ได้รับจัดสรรเวลาตามข้อ 6 และข้อ 7

             ข้อ 10 ถ้าปรากฏว่าวัสดุเผยแพร่สำหรับการออกอากาศของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดที่จะออกอากาศ มีข้อความ ถ้อยคำ หรือรูปแบบที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 8 ให้ดำเนินการ ดังนี้

             - ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอานาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือระงับการออกอากาศวัสดุเผยแพร่ของผู้สมัครนั้นได้
             - ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือระงับการออกอากาศวัสดุเผยแพร่สำหรับการออกอากาศของพรรคการเมืองนั้นได้

             ข้อ 11 ถ้าสถานีใดมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจออกอากาศวัสดุเผยแพร่สำหรับการออกอากาศของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้ตามกำหนด ให้สถานีดังกล่าวจัดสรรช่วงเวลาอื่นที่ทัดเทียมกันในการออกอากาศแทนตามควรแก่กรณี

             ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการให้ความรู้แก่ประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองและกระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น สถานีอาจเชิญพรรคการเมืองไปออกรายการเพื่อแสดงวิสัยทัศน์หรืออภิปรายเชิงนโยบาย หรืออาจจัดรายการให้พรรคการเมืองตอบข้อซักถามหรือแสดงความคิดเห็นก็ได้ ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สถานีพิจารณาตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณ โดยต้องพิจารณาให้พรรคการเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกัน

             หมวด 2 การจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมือง

             ข้อ 13 ให้พรรคการเมืองที่จะประชันนโยบายการบริหารประเทศ แจ้งความประสงค์ต่อเลขาธิการนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมีผลบังคับใช้

             ข้อ 14 ให้เลขาธิการจัดให้มีเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมือง ดังนี้

             - กลุ่มที่ 1 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 300 ถึง 350 เขตเลือกตั้ง
             - กลุ่มที่ 2 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 200 ถึง 299 เขตเลือกตั้ง
             - กลุ่มที่ 3 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครน้อยกว่า 200 เขตเลือกตั้ง

             ข้อ 15 ในการจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

             - ให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง หรือบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประชันนโยบายบริหารประเทศ
             - การจัดให้มีเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศตามข้อ 14 หากกลุ่มใดมีจำนวนพรรคการเมืองมากกว่า 4 พรรคการเมืองขึ้นไป ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองหรือบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี จับสลากแบ่งกลุ่มเพื่อประชันนโยบายบริหารประเทศ โดยให้แต่ละกลุ่มมีจานวนพรรคการเมือง ตั้งแต่ 2 พรรคการเมือง แต่ไม่เกิน 4 พรรคการเมือง
             - ให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง หรือบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี จับสลากเลือกคำถามประชันนโยบายบริหารประเทศ

             ข้อ 16 ในการดำเนินการตามข้อ 14 ให้เลขาธิการหารือกับผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อจัดสรรเวลาการออกอากาศ

             ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561
             อิทธิพร บุญประคอง
             ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา


ข้อมูลจาก  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกาศราชกิจจาฯ ระเบียบ กกต. เผยหลักเกณฑ์-วิธีสนับสนุนการหาเสียง อัปเดตล่าสุด 14 มกราคม 2562 เวลา 18:01:15 8,306 อ่าน
TOP