x close

ปิดเทอมสร้างสรรค์ โลกนอกห้องเรียน

             ความรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียนปิดเทอมช่วง 3 เดือนกว่า เด็กและเยาวชนเกือบ 13 ล้านคน จะมีเวลาว่างนอกห้องเรียน คงดีไม่น้อยถ้าเวลาเหล่านั้น ถูกใช้ไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสามารถ จินตนาการ ความสร้างสรรค์ของเด็กๆ

 

             แน่นอนว่า ปัจจุบันมีกิจกรรมอยู่มากมาย ที่รอให้เด็กๆ ไปเรียนรู้ แต่บางครั้งอุปสรรคของเด็กๆ คือ เข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลเหล่านั้น ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้เข้าอยู่ในกิจกรรม หรือ บางครั้งก็ไม่ม่ทุนทรัพย์เพียงพอที่จะทำกิจกรรมของภาคเอกชนที่จัดขึ้นแบบมีค่าใช้จ่าย

 

             ยูรีพอร์ต ทำการสำรวจเด็กและเยาวชน จำนวน 1,882 คน ในช่วง ธ.ค. 2560 - ม.ค. 2561 พบว่า เยาวชนเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ไม่ค่อยปลอดภัย และ 35% คิดว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย และ 12% มองว่าไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่ทราบช่องทางการเข้าถึง ทั้งนี้ข้อเสนอของเด็กและเยาวชน 42% อยากให้รัฐบาลเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กเยาวชนมากที่สุด

 

 

             เมื่อหันไปมองตัวเลขจากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2559 เรื่องการใช้เวลากับกิจกรรมยามว่างของเยาวชน ก็พบว่า เยาวชนไทยที่เติบโตในยุคดิจิตอล ใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยกิจกรรมการใช้งานสูงสุด คือการเล่นเกม ดาวน์โหลดเกม 85% ในจำนวนนี้ 10-15% มีอาการเสพติดเกมออนไลน์ขั้นรุนแรงที่ไม่สามารถหยุดเล่นได้

 

             ผลของตัวเลขเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจาก การเข้าไม่ถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือ ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่มีใครช่วยชี้แนะแนวทาง หรือ ดึงเข้าสู่กิจกรรมที่สร้างสรรค์

 

             สสส. ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน จัดทำโครงการ ปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งเครือข่ายนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์และขับเคลื่อนกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ เพื่อให้นักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์เข้าใจถึงเป้าหมาย แนวทาง บทบาทหน้าที่ และการขยายเครือข่ายภาคีระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นของตนเอง

 

 

             เครือข่ายนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ สามารถคัดเลือกกิจกรรมสร้างสรรค์ต้นแบบ รวมถึงเกิดช่องทางการสื่อสาร (Group Line) ภาคีระดับภูมิภาค ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทย ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมและวันหยุด ให้เกิดประโยชน์ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีด้านเด็กและเยาวชนทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่น ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน

 

             แต่ละจังหวัด ได้ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างผู้จัดกิจกรรมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เชื่อมโยงบุคคลหรือหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กและเยาวชนไทยให้ครบทุกมิติทั้ง 4 ด้านการเรียนรู้ คือ ตามความฝัน ค้นหาตัวตน แบ่งปันสังคม และ สนุกฝึกฝนเปิดโลกเรียนรู้

 

 

             นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายถึงการเตรียมการจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ในปีนี้ ยังคงมุ่งเน้นการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน ในช่วงปิดเทอมและวันหยุดให้เกิดประโยชน์ โดยขยายช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สถานที่ที่มีกิจกรรมดีๆ และแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างการรับรู้รับทราบแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชน ถึงกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงปิดเทอม เพื่อสร้างโอกาสในการจุดประกายความฝัน และการเรียนรู้ แก่เด็ก และเยาวชน

 

             โดย สสส. ได้เชื่อมร้อยภาคี เครือข่าย ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะอย่างหลากหลายทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค โดยระดมเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่น สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมช่วงปิดเทอมและวันหยุดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด ดังนี้ 1. ลำพูน 2. พะเยา 3. ลำปาง 4. น่าน 5. เลย 6. ขอนแก่น 7. กาฬสินธ์ 8. มหาสารคาม 9. อุบลราชธานี 10. สุรินทร์ 11. สระบุรี 12. สงขลา 13. พัทลุง 14. ตรัง 15. สตูล

 

 

             จากการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ปกติจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์อยู่แล้ว ได้ถูกรวบรวมให้กิจกรรมได้มาอยู่ในเว็บไซต์ "ปิดเทอมสร้างสรรค์" ซึ่งรวบรวมกิจกรรมอย่างเป็นหมวดหมู่ตามความสนใจเพื่อเป็นฐานข้อมูลที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กเยาวชน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก เหมาะสมกับวัย

 

             โดยจากการเปิดเว็บไซต์ให้เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมวันว่างของเยาวชนเมื่อ ปี 2561 พบว่า  85% ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ระบุว่า ได้รับประโยชน์ในระดับมากถึงมากที่สุด เพราะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์, เปิดประสบการณ์ใหม่, ฝึกคิด เรียนรู้สิ่งต่างๆ, นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง 

 

 

             ยังสามารถตอบโจทย์พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดึงเด็กออกห่างจากปัญหาต่างๆ เช่น ติดเกม ติดสังคมโซเชียล โดยหากิจกรรมที่เหมาะกับวัยให้เด็กได้ลงมือทำ

 

             แต่ผลการสำรวจยังพบว่า มีเด็กกว่า 43% เข้าไม่ถึงกิจกรรมใดเลยเพราะบ้านอยู่ไกล สสส. จึงเตรียมอุดช่องว่างโดยกระจายกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ ในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการทำงานของภาคีในภาคส่วนต่างๆ

 

 

             ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้อธิบายถึงโครงการดังกล่าวซึ่งได้มีการประเมินจากการจัดกิจกรรมปี 2661 พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจในระดับสูง จึงก่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ปี 2562 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายจะเพิ่มการเชื่อมร้อยหน่วยงานภาคีด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่นให้ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะอย่างหลากหลาย  และขยายการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ผ่าน Website และ Facebook ปิดเทอมสร้างสรรค์ ให้เข้าถึงเด็กเยาวชน และผู้ปกครองในทุกพื้นที่

 

             "การจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์นั้นมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนใช้โอกาสช่วงปิดเทอม ในการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ปลดปล่อยศักยภาพ ค้นหาแววในการทำงาน ตลอดจนความสุขในการเรียนรู้สู่โลกกว้าง เพื่อเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมในมิติสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งกิจกรรมที่ได้รวบรวมไว้นั้น เหมาะสมทั้งตามช่วงวัย และความสนใจ และจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการในช่วงต่างๆ ของเด็กและเยาวชนทำให้เกิดความสุข และเกิดพลังความสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมได้อีกด้วย"

 

             โดยสามารถติดตามรายละเอียด และเลือกหากิจกรรมตามความสนใจของเด็กๆ ได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com  หรือ Facebook: Happy Schoolbreak

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปิดเทอมสร้างสรรค์ โลกนอกห้องเรียน โพสต์เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17:50:15 1,974 อ่าน
TOP