เปิดบันทึกแพทย์ ในภารกิจถ้ำหลวง อีกหนึ่งฮีโร่ ช่วยชีวิต 13 หมูป่า

          เปิดบันทึกแพทย์ ในภารกิจช่วย 13 หมูป่า จากถ้ำหลวง หนึ่งในบทบาทหน้าที่สำคัญที่ผิดพลาดไม่ได้ และต้องแข่งกับเวลา เพื่อให้ทุกคนรอดปลอดภัย 

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ไทยพีบีเอส ได้รายงานข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความชื่อ Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized Patients in the Thailand Cave Rescue หรือแปลได้ว่า การดูแลผู้ป่วย 13 ราย ที่มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำและได้รับการวางยาสลบ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine วารสารทางการแพทย์เก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา

          บทความดังกล่าวเป็นรายงานสรุปผลภารกิจช่วยเหลือ นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต จากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เขียนจากปลายปากกาของ พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ พล.ต. วุฒิชัย อิศระ ผศ. นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ และ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส แพทย์ชาวออสเตรเลีย

          และนี่คือบันทึกฉบับหนึ่งของ พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ ซึ่งเปิดเผยถึงแง่มุมที่น่าสนใจมากมายจากปฏิบัติการครั้งนี้ 

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          วันแรก - พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ ได้เข้าร่วมภารกิจดังกล่าวด้วยความบังเอิญเป็นครั้งแรก ในคืนวันที่ 1 กรกฎาคม เวลาประมาณ 23.00 น. โดยได้เป็นตัวแทนแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มอบผ้าห่มและแท่งเรืองแสงให้กับ พ.ท. นพ.ภาคย์ โลหารชุน หลังจากได้รับทราบว่าทีมช่วยเหลือขาดแคลนข้าวของดังกล่าว และทันได้รับทราบข่าวดีว่าพบหมูป่า 13 ชีวิต ที่บริเวณพัทยาบีช ในถ้ำหลวง ต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม ได้ประสานงานไปยังโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ในการจัดหาเครื่องกระตุกหัวใจ (AED - Automated External Defibrillator) เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน เพราะถ้าหากมีคนเกิดภาวะตัวเย็นและหัวใจหยุดเต้น แค่การใช้ผ้าห่มฉุกเฉินนั้นไม่เพียงพอ

          วันที่สอง - พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ เข้าร่วมภารกิจถ้ำหลวงเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 9 กรกฎาคม ภารกิจช่วยหมูป่าออกจากถ้ำในวันนี้ ใช้แพทย์ 50 คน และบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 100 คน โดย พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ ได้ทำหน้าที่โดยใช้ประสบการณ์โดยตรง นั่นก็คือ การรับมือกับภาวะไฮโปเทอร์เมียของหมูป่า หรือภาวะที่ร่างกายมนุษย์อยู่ในสภาพที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ หรือตัวเย็นเกิน อันเป็นผลมาจากถ้ำ เนื่องจากทีมช่วยเหลือยังไม่มีการเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้มากนัก เพราะมีความคุ้นเคยจากการช่วยเหลือผู้คนจากภาวะฮีตสโตรก หรือภาวะตัวร้อนเกิน มากกว่า ภาวะตัวเย็นเกิน

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          ขณะปฏิบัติการดำเนินไปนั้น พ.ต. นพ.ชาญฤทธิ์ ได้เขียน Protocol ABC+H ลงในกระดาษเพื่อให้ทุกคนในทีมได้รับทราบขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้มีการซักซ้อมประสานงานกัน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว และมีการแบ่งหน้าที่กันในแต่ละด้าน คือ ด้านระบบทางเดินหายใจ ด้านหัวใจ ด้านการรักษาภาวะตัวเย็นเกิน และด้านการใช้ยาสลบ

          ยังมีการคัดแยกอาการตามระดับความรุนแรงน้อยไปถึงมากด้วยเช่นกัน เช่น สีแดง สำหรับหมูป่าที่ประสบภาวะอันตรายถึงชีวิต ต้องรับการรักษาเร่งด่วน หรือสีเหลือง สำหรับหมูป่าที่ต้องรักษาและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อช่วยหมูป่าแต่ละคนออกมาได้ ทีมแรกจะเข้าไปประเมินอาการแต่ละคน หากคนไหนไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จะส่งต่อให้ทีมที่สองเข้าดูแล

          ขั้นตอนนี้จะมีการถอดชุดดำน้ำ แบบ Wet Suit ซึ่งสามารถป้องกันร่างกายจากน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ ต่อมา หน่วยซีลและทีมแพทย์อีกทีม จะเข้าไปประคองต้นคอหมูป่า ก่อนเคลื่อนย้ายเข้าไปในจุดให้การรักษา และเมื่ออาการคงที่แล้ว ก็จะนำตัวส่งต่อโรงพยาบาลต่อไป

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          วันที่สาม - ภารกิจวันนี้เป็นการลำเลียงหมูป่าออกจากถ้ำ 5 คน โดยหมูป่าคนแรกที่มาถึง พบว่าอยู่ในภาวะตัวเย็นเกินที่หนักที่สุด อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส แพทย์ดำเนินการช่วยเหลือทั้งอุณหภูมิภายในและภายนอก คือ ให้น้ำเกลือซึ่งอุ่นไว้ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และให้ห่มผ้าห่มแบบพิเศษควบคู่กับผ้าห่มฉุกเฉิน

          พร้อมกับมีการวัดออกซิเจน บันทึกสัญญาณชีพ และวัดอุณหภูมิหมูป่าทุก ๆ  5 นาที นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ในการช่วยเหลือด้วย เช่น การใช้ไดร์เป่าผม เป่าตามปลายนิ้วเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ และเมื่อลำเลียงหมูป่าถึงโรงพยาบาลครบแล้ว พบว่าไม่มีคนไหนอยู่ในภาวะตัวเย็นเกิน นับว่าการช่วยเหลือขั้นตอนแรกสำเร็จด้วยดี

          นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงการใช้ยาสลบในระหว่างขั้นตอนช่วยเหลือหมูป่าด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีประสิทธิภาพดี ผ่านพ้นไปอย่างสำเร็จเช่นกัน (อ่านข่าว : วารสารการแพทย์สหรัฐฯ เผย หมอใช้ ยาเค กล่อม 13 หมูป่า ก่อนช่วยออกจากถ้ำ)

          สำหรับเนื้อหาวารสารฉบับเต็ม ในภาษาอังกฤษ สามารถติดตามอ่านได้ที่ The New England Journal of Medicine

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดบันทึกแพทย์ ในภารกิจถ้ำหลวง อีกหนึ่งฮีโร่ ช่วยชีวิต 13 หมูป่า อัปเดตล่าสุด 19 เมษายน 2562 เวลา 18:21:41 5,632 อ่าน
TOP
x close