x close

สรุป 10 ข้อ มหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์ ตั้งแต่แรกเริ่ม จนสุดท้ายรัฐต้องจ่ายหมื่นล้าน

          ย้อนมหากาพย์โครงการ โฮปเวลล์ สรุปไทม์ไลน์บทเรียนค่าโง่ราคาแพงตั้งแต่เริ่มแรก จนล่าสุดศาลปกครองสูงสุด สั่งคมนาคมจ่ายชดเชยผู้รับเหมา 11,888 ล้านบาท

ภาพจาก สํานักข่าวไทย TNAMCOT

          หลังยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี วันนี้มหากาพย์โครงการ โฮปเวลล์ หรือ โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงของสาธารณชนอีกครั้ง หลังศาลปกครองสูงสุด ได้มีการยกคำร้องกรณีให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ คดีโฮปเวลล์ และให้ กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบทสรุปของตำนานดังกล่าว 

          ทั้งนี้ หลายคนเกิดความสงสัยว่า โครงการ "โฮปเวลล์" อันเป็นเหมือนความหวังอันสวยหรูดังกล่าว เหตุใดจึงไม่สามารถก่อสร้างจนแล้วเสร็จ กระทั่งสุดท้ายรัฐต้องกลายเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยสูงกว่าหมื่นล้านให้กับ "ผู้รับเหมาที่ทำงานไม่เสร็จ"       

          1. โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือที่เรียกว่า โฮปเวลล์ เกิดขึ้นในปี 2533 ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  

          2. รัฐบาลได้เปิดประมูลสัมปทานก่อสร้าง และผู้ชนะการประมูลงานก่อสร้างนั้นก็คือบริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง โดยมีแผนจะสร้างทางยกระดับ 3 ชั้นคร่อมไปบนทางรถไฟเดิมของ รฟท. ชั้นกลางเป็นทางรถไฟชุมชน ชั้นบนสุดเป็นทางด่วน ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้งบในการก่อสร้างราว 8 หมื่นล้านบาท เพื่อลดจำนวนแยกระหว่างถนนกับรางรถไฟ แก้ปัญหาจราจรติดขัด 

          3. โครงการโฮปเวลล์ เริ่มลงนามเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 มีอายุสัมปทานยาว 30 ปี โดยทางผู้ก่อสร้างจะเป็นผู้ลงทุนและออกแบบเองทั้งหมด ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี วงเงินลงทุนรวม 8 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาเผิน ๆ ไม่ว่าใครก็ต้องมองว่าฝ่ายรัฐบาลไทยนั้นได้เปรียบเห็น ๆ แต่กลับมีบางจุดในสัญญาที่ทำให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบอย่างมาก ก็คือ 

          ในสัญญากำหนดให้ฝ่ายผู้ลงทุนสามารถบอกเลิกสัญญาได้เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ และอีกประเด็นหลักคือ "ไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด" ทำให้บริษัท โฮปเวลล์ มีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องทำโครงการจนเสร็จ 

ภาพจาก สํานักข่าวไทย TNAMCOT

          4. หลังเริ่มก่อสร้างก็เริ่มพบปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า โดยผู้ก่อสร้างระบุว่าทางการรถไฟฯ ไม่สามารถส่งมอบที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างได้ตามระยะเวลา เนื่องจากติดปัญหาการย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร ทำให้แหล่งเงินทุนเริ่มไม่มั่นใจ ทยอยถอนตัวออก ผู้ก่อสร้างจึงเริ่มเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้โครงการต้องเป็นอันชะงักในที่สุด 

          5. มิหนำซ้ำหลังจากมีการรัฐประหารในปี 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้ตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด ซึ่งโครงการโฮปเวลล์ ก็เข้าข่ายที่จะต้องถูกตรวจสอบ จนสุดท้ายได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ขึ้นมาดำเนินการแทนในปี 2535 

          6. จากนั้นในปี 2535 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 โครงการโฮปเวลล์ก็ถูกผลักดัน แต่ก็ยังไม่วายเจอกับปัญหาเรื่องเงินทุน และปัญหาเรื่องแบบก่อสร้าง จึงทำให้ผู้รับเหมาไม่ยอมทำต่อ เพราะสัญญาไม่ระบุว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด 

          7. ต่อมาในสมัยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังพบว่าบริษัท โฮปเวลล์ ได้หยุดการก่อสร้างทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 และได้มีการยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2541 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13.77% จากที่ควรจะมีความคืบหน้า 89.75% 

          8. ปลายปี 2547 บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ส่วนการรถไฟฯ ก็ฟ้องเรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาทเช่นกัน 

          9. ต่อมาในปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม 

          10. และในปี 2557 ศาลปกครองกลาง ก็ได้ตัดสินให้ยกเลิกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า บริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ช่วงต้นปี 2541 โดยผู้รับเหมามีเวลายื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายภายใน 5 ปี หรือไม่เกินต้นปี 2546 แต่บริษัท โฮปเวลล์ ได้ทำการยื่นฟ้องในช่วงปลายปี 2547 
 

ภาพจาก สํานักข่าวไทย TNAMCOT

          จนมาถึงบทสรุปสุดท้ายในวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัท โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญา รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

          อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้โครงการ "โฮปเวลล์" จะได้บทสรุปอันขมขื่นใจของประชาชนที่ต้องหนีไม้พ้นการเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องร่วมจ่ายเงินชดเชยในครั้งนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนที่เสียไป ก็คือบทเรียนที่ได้มา เพื่อให้คนรุ่นหลังโดยเฉพาะรัฐบาลต่อไปในอนาคต เมื่อมองเห็นเสาเหล่านี้แล้วควรตระหนักให้มากว่า ต้องไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกอย่างเด็ดขาดในอนาคต     
 

ภาพจาก สํานักข่าวไทย TNAMCOT

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 10 ข้อ มหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์ ตั้งแต่แรกเริ่ม จนสุดท้ายรัฐต้องจ่ายหมื่นล้าน อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2562 เวลา 17:13:44 30,885 อ่าน
TOP