x close

สภากาชาดไทย แจงปมหนุ่มรับเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด เป็นข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์

          สภากาชาดไทย แจงปมหนุ่มลูกครึ่งรับบริจาคเลือดติดเชื้อ HIV เผยไม่ได้คัดกรองผิดพลาด แต่เพราะข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันปัจจุบันปลอดภัย

          จากกรณี หนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น วัย 24 ปี ป่วยเป็นลูคีเมีย ก่อนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชื่อดัง แต่ปรากฏว่าได้รับเชื้อเอชไอวีจากการถ่ายเลือด โดยทางโรงพยาบาลดังกล่าวชี้แจงว่า เลือดที่ให้การรักษาผู้ป่วยรับมาจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ทั้งนี้พร้อมรับผิดชอบทุกกรณีนั้น (อ่านข่าว : รพ.บำรุงราษฎร์ เสียใจปมผู้ป่วยให้เลือดติดเชื้อเอชไอวี คาดสาเหตุที่เลือดมีเชื้อ)

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 11 รายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ รายงานว่า ครอบครัวและหนุ่มที่ได้รับเชื้อเอชไอวี เดินทางไปที่ศาลากลาง จ.ปทุมธานี เพื่อ  เจรจากับตัวแทนของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือรักษาและเยียวยาแก่ผู้ป่วย ตามหลักมนุษยธรรม โดยผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด โรงพยาบาลฯ กล่าวว่า การเจรจาของทุกฝ่ายเป็นไปด้วยดี ยืนยันทางโรงพยาบาลให้สิทธิ์ผู้ป่วยรักษาฟรีทุกโรคตลอดชีวิต ปัจจุบันนี้ทางโรงพยาบาลมีมาตรฐานที่สูงมากในการตรวจสอบเลือดเพื่อให้เลือดกับผู้ป่วย ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เตรียมแถลงสัปดาห์หน้า


          ด้านหนุ่มที่ได้รับเชื้อเอชไอวี กล่าว การเจรจากับโรงพยาบาลฯ จบลงด้วยดี  ตอนนี้รู้สึกสบายใจ มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อในสังคม ตนกลับคิดว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัว ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ รวมทั้งครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้างให้กำลังใจมาโดยตลอด อยากบอกว่าไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร หากจิตใจเราเข้มแข็ง ทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี

          ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า โลหิตที่จ่ายให้กับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อนำไปรักษาหนุ่มวัย 24 นั้น เป็นเลือดที่ได้รับบริจาคเมื่อปี 2547 ไม่มีเชื้อเอชไอวีเป็นปกติ แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง ที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีจากโลหิตที่รับบริจาคมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดที่ระบบคัดกรอง แต่เกิดจากข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า วินโดว์พีเรียด (Window Period) เป็นช่วงเวลาที่ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีมา แต่ยังตรวจไม่พบ เพราะว่าร่างกายอาจจะยังรับเชื้อมาไม่นาน ทำให้ไม่สามารถแยกแยะหรือคัดกรองได้ว่า เลือดที่ได้รับบริจาคมานั้น มีระยะการฟักตัวของเชื้อประเภทใดบ้าง  ซึ่งจะพบว่าเลือดมีเชื้อเอชไอวี ก็ต่อเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วเกิดการเพาะเชื้อจึงจะตรวจพบ

          สำหรับระยะการตรวจพบเชื้อแต่ละโรคหลังเข้าสู่ร่างกายแล้ว เอชไอวีใช้เวลาตรวจพบ 5-7 วัน  ไวรัสตับอักเสบบี 24-27 วัน ไวรัสตับอักเสบซี 3-5 วัน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อยู่ในระยะวินโดว์พีเรียดได้


          ปัจจุบันการบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีการคัดเลือกและตรวจเลือดผู้บริจาคตามมาตรฐาน ระดับประเทศและระดับสากล มีมาตรการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต ด้วยแบบสอบถามและซักประวัติพฤติกรรมความเสี่ยง มีการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีซีโรโลยี่ ด้วยน้ำยาที่มีความไวสูงสุด และตรวจด้วยวิธี Nucleic acid amplification test (NAT) หากผลตรวจเป็นปกติก็จะไม่มีความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญผู้บริจาคต้องคัดกรองตัวเองก่อนว่า ไม่เป็นผู้ติดเชื้อโรคใด ๆ ก่อนที่จะมาบริจาคโลหิต สภากาชาดไทยขอแสดงความเสียใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ทุกกรณี

          ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ไชยวงค์ ผู้เชี่ยวชาญนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจคัดกรองโลหิต กล่าวยืนยันว่าเลือดทุกยูนิต 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่ติดต่อทางเลือด แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะตรวจเจอด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพราะต้องใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนของเชื้อก่อน ถึงจะสามารถตรวจเจอเชื้อ ส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริจาค หากจะทำบุญจริงและพบว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงไ ม่ควรมาบริจาค เพื่อให้เลือดมีความปลอดภัยและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภากาชาดไทย แจงปมหนุ่มรับเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด เป็นข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ โพสต์เมื่อ 11 พฤษภาคม 2562 เวลา 15:03:13 6,581 อ่าน
TOP