x close

สื่อมาเลเซียเผย ค่ารถไฟฟ้าไทยแพงไป ไม่เอื้อคนรายได้น้อยในชีวิตจริง

          สื่อมาเลเซียเผย ค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทยราคาสูงไป ไม่เอื้อคนรายได้น้อยในชีวิตจริง แม้จะขยายเส้นทางไปชานเมือง แต่เชื่อคนใช้บริการน้อยเพราะแพง
ค่าโดยสาร BTS
ภาพจาก phol_66 / Shutterstock.com

          เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย เผยรายงานอ้างอิงจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI (Thailand Development Research Institute) ระบุว่า ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศไทย มีค่าโดยสารที่แพงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าจะมีสร้างเส้นทางสายใหม่ ขยายจากเส้นทางเดิมออกไปสู่ชานเมืองก็ตาม ทำให้พวกเขาต้องหาระบบขนส่งอื่นมาสนับสนุนแทน เช่น รถเมล์

          "ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชานเมือง อาจจะหลบเลี่ยงการเดินทางโดยบีทีเอส แม้ว่าจะมีการขยายเส้นทางไป เนื่องจากค่าโดยสารที่แพงเกินไป" สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการสถาบัน TDRI กล่าว

          ตามรายงานของเดอะสตาร์ ชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เผยว่า รถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการขณะนี้ มี 4 เส้นทาง ครอบคลุมระยะทาง 120 กิโลเมตร และมีอีก 7 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ครอบคลุมระยะทาง 173 กิโลเมตร เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมต่อบางซื่อ-รังสิต (แดงเข้ม 26 กิโลเมตร) และบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แดงอ่อน 15 กิโลเมตร) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้ปริการในปีหน้า โดยคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 300,000 คนต่อวัน

          รวมไปถึง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเข้ม เชื่อมต่อหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่แล้วเสร็จไปประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ และมีกำหนดเปิดใช้บริการในปีหน้าเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้มากถึงราว 490,000 ต่อวัน

          ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่เมืองหลวงของไทย เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดเผยว่า จะตั้งเป้าเพดานค่าโดยสารรถไฟฟ้าไว้ที่ไม่เกิน 65 บาท ไปจนถึงอย่างน้อยในปี 2572 ภายหลังจากมีการคาดคะเนว่า หากไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าโดยสาร อาจสูงลิ่วไปอยู่ที่ 158 บาท หากมีการเปิดใช้บริการเส้นทางระยาวขึ้น

          อย่างไรก็ตาม สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการสถาบัน TDRI กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการกำหนดราคาเพดานค่าโดยสารที่ 65 บาท ก็ยังถือว่าแพงเกินไป โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาท เมื่อคิดค่าเดินทางไป-กลับต่อวันต้องจ่าย 130 บาท ยังไม่รวมค่าเดินทางปลีกย่อยเพิ่มเติม เช่น รถเมล์ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก่อนที่จะไปต่อรถไฟฟ้าสถานีที่ใกล้ที่สุด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สื่อมาเลเซียเผย ค่ารถไฟฟ้าไทยแพงไป ไม่เอื้อคนรายได้น้อยในชีวิตจริง อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2562 เวลา 15:12:17 18,538 อ่าน
TOP