x close

ย้อนอดีตพลังงานไทย พลิกวิกฤตเป็นรากฐานความมั่นคง อีกบทบาทของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          "โชติช่วงชัชวาล" วลีอันเป็นที่จดจำของ 'พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์' บุรุษผู้วางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

นับจากนี้ไป ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้า
และโชติช่วงชัชวาล
          จากคำพูดของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ณ วันนั้น เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการ ปตท. รวมถึงเป็นประธานในการหมุนเปิดวาล์วส่งท่อก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรก ในวันที่ 12 กันยายน 2524 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพึ่งพาพลังงานด้วยตัวเองของคนไทย นำมาสู่ความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจจวบจนทุกวันนี้
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นผู้หมุนเปิดวาล์วส่งท่อก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรก ณ สถานีส่งก๊าซชายฝั่ง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2524

รำลึกถึง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนจังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2463 สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 และศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะ กองทัพบก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเข้ารับราชการในกองทัพบก จนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
 

          ด้านเส้นทางสายการเมือง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2523-2531 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีและยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2541 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี โดยมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางรากฐานด้านพลังงานไทย
 

จุดเริ่มต้นจากวิกฤตพลังงาน

สงครามโลกครั้งที่ 2

          ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2480 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิง สังกัดกรมพลาธิการทหารบก กระทรวงกลาโหม เป็น "กรมเชื้อเพลิง" พร้อมกับตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อจำหน่ายน้ำมันให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมัน และยังได้ก่อตั้งโรงกลั่นน้ำมันขึ้นเป็นแห่งแรก ต่อมาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น สืบเนื่องไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้โรงกลั่นน้ำมันของกรมเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ขณะที่บริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยต้องปิดตัวลง ส่งผลให้บ้านเมืองขาดแคลนทั้งน้ำมันและไฟฟ้า
 

          กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยถูกประเทศผู้ชนะสงครามบีบให้ยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง และยุบกรมเชื้อเพลิง ต้องขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดให้บริษัทน้ำมันต่างชาติ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายน้ำมันโดยเสรีและผูกขาดการขายน้ำมันให้แก่รัฐบาล โดยรัฐบาลจะไม่สามารถขายน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชนได้ ยกเว้นในกิจการทหาร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความมั่นคงทางพลังงานไปโดยปริยาย เนื่องจากธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยช่วงนั้นถูกควบคุมแทบจะเบ็ดเสร็จโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ โดยที่คนไทยไม่สามารถทำธุรกิจด้านพลังงานได้เลย

ปั๊มน้ำมันสามทหาร

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถเจรจาต่อรองปรับแก้สัญญาให้คนไทยสามารถดำเนินธุรกิจด้านพลังงานได้เช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติ กระทั่งปี พ.ศ. 2502 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันบางจาก และอีก 1 ปีให้หลัง ได้จัดตั้ง "องค์การเชื้อเพลิง" เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินธุรกิจในการผลิตและค้าน้ำมัน ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของ "ปั๊มน้ำมันสามทหาร" นั่นเอง

ออยล์ช็อก (Oil Shock)

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2516-2517 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน หรือ "Oil Shock" เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น แต่ความสามารถในการผลิตน้ำมันมีขีดจำกัด หนำซ้ำยังมีข้อพิพาททางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างประเทศอิสราเอล กับกลุ่มชาติอาหรับใน "โอเปก" ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันดิบ ทำให้โอเปกใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองกับกลุ่มประเทศที่เป็นปรปักษ์ต่อตัวเอง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันถูกจำกัด จนราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
 

          เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะในยุคนั้น (เมื่อ 40 ปีก่อน) น้ำมันคือเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง แต่ไทยยังไม่มีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตัวเอง ยังต้องนำเข้าน้ำมันผ่านบริษัทข้ามชาติ เมื่อน้ำมันแพงขึ้นก็ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปตาม ๆ กัน รัฐบาลต้องประกาศพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 เพื่อควบคุมสถานการณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการประหยัดการใช้น้ำมันหลากหลายรูปแบบ

ก่อตั้ง ปตท.

          หลังจากผ่านเหตุการณ์ Oil Shock ครั้งแรกไปได้เพียง 5 ปี ในปี พ.ศ. 2521 วิกฤตการณ์น้ำมัน หรือ Oil Shock ครั้งที่ 2 ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สาเหตุจากปัญหาการเมืองภายในประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้ประท้วงหยุดผลิตน้ำมัน ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ลดลงและขาดแคลน ก็ยิ่งซ้ำเติมราคาน้ำมันโลกให้แพงขึ้นไปแบบทวีคูณ
 

          อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้กระทบกับประชาชนทั่วไปมากนัก รัฐบาลไทยได้ประกาศตรึงราคาน้ำมันที่ขายในประเทศ แต่ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้บริษัทน้ำมันต่าง ๆ นำน้ำมันไปขายในประเทศที่ได้ราคาสูงกว่า ยิ่งส่งผลให้ไทยขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ถึงขนาดว่ามีบางช่วงเวลาที่มีน้ำมันสำรองสำหรับผลิตไฟฟ้าได้เพียง 2 วันเท่านั้น และการขาดแคลนน้ำมันยังส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำนา การประมง การขนส่ง ฯลฯ ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาวิกฤต จนต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานออกมา เช่น
 

  • จำกัดเวลาขายน้ำมันของปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ โดยงดขายหลัง 18.00 น. และวันอาทิตย์
  • งดใช้ป้ายไฟตามท้องถนน หรือป้ายไฟกลางแจ้งต่าง ๆ
  • งดฉายภาพยนตร์และมหรสพในรอบดึก
  • สถานีโทรทัศน์งดออกอากาศในช่วงค่ำ
     
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

           แต่นั่นได้กลายเป็นโอกาสสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง "การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย" หรือ "ปตท." ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งมี พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มผลักดัน ด้วยการออกพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นเหมือนการเริ่มต้นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ โดยโอนกิจการขององค์การเชื้อเพลิง (อชพ.) และองค์การก๊าซธรรมชาติ (อกธ.) เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          ช่วงเริ่มต้น พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั่งเป็นประธานบอร์ด ปตท. คนที่ 1 ด้วยตัวเอง และมี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นกรรมการชุดแรก ๆ ของ ปตท. ด้วย ภารกิจหลักช่วงนั้นของ ปตท. คือ การติดต่อจัดซื้อน้ำมันดิบ ควบคุมปริมาณการกลั่นน้ำมัน บริหารคลังสำรองน้ำมัน และกระจายน้ำมันสู่สถานีบริการผ่านปั๊มสามทหาร
 

          นอกจากการแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนแล้ว อีกด้านหนึ่งของ ปตท. ก็ยังมีภารกิจสำคัญในการรวม 3 หน่วยงานที่ดูแลด้าน "น้ำมัน" "ก๊าซธรรมชาติ" และ "โรงกลั่น" เข้าด้วยกัน เพื่อให้บริหารธุรกิจน้ำมันได้ครบวงจรและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่ง 3 หน่วยงานที่ว่าคือ

1.  องค์การก๊าซธรรมชาติ (อกธ.)

          จัดตั้งขึ้นในปี 2520 ภายหลังจากได้รับการยืนยันว่าพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งตอนนั้น อกธ. มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องก๊าซธรรมชาติ งานวางท่อก๊าซในอ่าวไทย และเจรจาต่อรองเรื่องสัมปทานกับบริษัทขุดเจาะต่างชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนเข้ามารวมกับ ปตท. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2522

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

2. องค์การเชื้อเพลิง (อชพ.)

          ก่อตั้งเมื่อปี 2500 เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการด้านสถานีบริการน้ำมัน ระบบคลังสำรอง และระบบขนส่งกระจายสินค้า หรือที่รู้จักในชื่อ "ปั๊มสามทหาร" โดยถูกโอนเข้ามาอยู่กับ ปตท. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522

3. โรงกลั่นน้ำมันบางจาก

          เป็นโรงกลั่นน้ำมันของรัฐ โดยกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม แต่ได้ให้ บริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น (ปานามา) เช่ามาตั้งแต่ปี 2507 จนเกิดปัญหาเมื่อปี 2524 บริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล ได้ผิดสัญญา รัฐบาลได้มีนโยบายให้ ปตท. ซื้อคืนโรงกลั่นน้ำมันบางจากกลับเข้ามาดูแลเองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 

          อย่างไรก็ดี สถานการณ์ราคามันตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่อง พล.อ. เกรียงศักดิ์ จำเป็นต้องประกาศขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน ตรึงไว้ได้เฉพาะราคาน้ำมันดีเซลเท่านั้น แต่ก็ยังส่งผลให้เม็ดเงินในกองทุนน้ำมันของประเทศติดลบอยู่ จนในปี 2523 พล.อ. เกรียงศักดิ์ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 

          ต่อมาเมื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2523 จึงได้เข้ามารับช่วงต่อการเป็นประธานบอร์ด ปตท. ในระหว่างปี 2524-2526

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

บทบาทของ พล.อ. เปรม ที่มีความสำคัญต่อ ปตท.

          ระหว่างปี 2524-2526 ที่ พล.อ. เปรม ขึ้นมาเป็นประธาน ปตท. ท่านคอยผลักดันแก้ไขวิกฤตด้านพลังงานต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนเรื่องน้ำมันแพงและขาดแคลน จนนำมาสู่ความหวังใหม่ที่ถือเป็นก้าวสำคัญของยุค "โชติช่วงชัชวาล" นั่นคือการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและขุดเจาะก๊าซฯ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าแทนการนำเข้าน้ำมันเตาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ จึงช่วยลดภาระขาดดุลการค้าสะสมได้

          คำว่า "โชติช่วงชัชวาล" จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้มแข็งในการพึ่งพาพลังงานด้วยตัวเอง และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวสำคัญในระยะเวลาต่อมา

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          นอกจากนี้ พล.อ. เปรม ยังได้สานต่องานจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ ที่เคยทำไว้นับจากปี 2522 ในด้านการแก้ปัญหาน้ำมันอย่างเร่งด่วน ได้แก่
1. ลดการพึ่งพาบริษัทน้ำมันต่างชาติ

          ด้วยการติดต่อขอซื้อน้ำมันดิบในราคามิตรภาพโดยตรงจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย

2. แก้ปัญหาคลังเก็บสำรองน้ำมันไม่เพียงพอ

          โดยการขอเช่าถังเก็บน้ำมันกองทัพเรือเพื่อเป็นคลังน้ำมันสำรองชั่วคราว และนำเรือน้ำมันขนาดใหญ่บรรทุกน้ำมันเตาลอยลำอยู่ในแม่น้ำ เปรียบเสมือนเป็นคลังน้ำมันลอยน้ำเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง

3. แสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกราคาถูกแทนน้ำมันเตา  

          โดยการจัดซื้อน้ำมันดิบจากประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้นมีราคาไม่สูงนัก มาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมันเตาที่มีราคาสูงกว่า
 

          อย่างไรก็ดี ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ปตท. ของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสักเท่าไหร่นัก การเริ่มต้นเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ราวกับการก้าวเข้าสนามรบด้วยมือเปล่า เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจน้องใหม่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แต่ท่านก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิด 2 ธุรกิจหลักของ ปตท. ที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล คือ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

นำโรงกลั่นบางจากกลับมาให้รัฐดำเนินการเอง
          โรงกลั่นมีความสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานมาก เพราะเมื่อได้น้ำมันดิบมาแล้ว จะยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการกลั่น เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายต่าง ๆ สำหรับนำมาทำเม็ดพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น
 
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          แต่ในตอนนั้นโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่ดำเนินการโดย บริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น ของชาวต่างชาติ มีปัญหาการส่งมอบน้ำมันไม่ตรงเวลา และได้น้ำมันคุณภาพต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น พล.อ. เปรม จึงเกิดแนวคิดอยากนำโรงกลั่นบางจากกลับคืนมาให้รัฐบริหารเอง โดยเจรจาบอกเลิกสัญญากับซัมมิท อินดัสเตรียล ในปี 2523 และนำกลับมาให้ ปตท. ดำเนินการในปี 2524 ถึงแม้จะเป็นงานยาก แต่การที่นำโรงกลั่นกลับมาให้ ปตท. บริหารเอง ก็ได้วางรากฐานความมั่นคงพลังงานไทยมาจนถึงวันนี้
 
สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

          จากการที่ไทยประสบความสำเร็จค้นพบแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย แต่การจะนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงแยกก๊าซฯ ของตัวเอง ปตท. จึงต้องใช้เงินลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซฯ มูลค่าสูงถึง 7,360 ล้านบาท ทว่าในตอนนั้นยังไม่มีทุนในการดำเนินการ ซ้ำยังขาดแคลนเรื่องคน และไม่มีทีมงาน ทำให้ พล.อ. เปรม ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยสามารถหาเงินทุนจากทางการญี่ปุ่นมาดำเนินการต่อได้สำเร็จ ในปี 2524
 

          จนกระทั่งโรงแยกก๊าซฯ ปตท. หน่วยที่ 1 สามารถเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2528 ทำให้ต่อยอดธุรกิจสำรวจและขุดเจาะจากแหล่งเอราวัณได้แบบครบวงจร ช่วยลดภาระของประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเตามาใช้ผลิตไฟฟ้า ที่สำคัญการมีโรงแยกก๊าซฯ ยังนำมาสู่การใช้ก๊าซหุงต้มสำหรับประกอบอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นับเป็นก้าวกระโดดด้านพลังงานที่สำคัญอย่างแท้จริง

สรุปวงจรธุรกิจปิโตรเลียมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

           1. สำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม
           2. นำก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ได้ลำเลียงผ่านท่อส่งก๊าซ
           3. ส่งต่อไปที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงกลั่นน้ำมัน เข้าสู่กระบวนการผลิตปิโตรเลียม
           4. นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิงภาคขนส่ง, ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน, เม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรม
 
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษผู้ปลุกเปลวไฟให้โชติช่วงชัชวาลท่านนี้เอง คือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยส่องไฟนำทางพาประเทศไทยและพลังงานไทยให้ก้าวมาถึงจุดที่ไฟสว่างตามปณิธานที่ท่านได้หวังไว้
 
          จากการถึงแก่อสัญกรรมของท่านเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เชื่อเหลือเกินว่า ชื่อของ "พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์" รัฐบุรุษผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี ผู้นำมาซึ่งความรุ่งเรืองของกิจการพลังงานไทย รวมถึงคุณูปการที่ท่านสร้างไว้กับแผ่นดินจะยังคงส่องสว่าง "โชติช่วงชัชวาล" อยู่ในใจทุกคนตลอดไป
 
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

ย้อนชมภาพเก่า ๆ หาชมยากของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ ปตท. กันได้ที่อัลบั้มรูปภาพด้านล่างนี้เลยค่ะ

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนอดีตพลังงานไทย พลิกวิกฤตเป็นรากฐานความมั่นคง อีกบทบาทของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2562 เวลา 16:20:02 15,121 อ่าน
TOP