x close

ท่วมแน่นอน 14 จุด กทม. แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มม. ชี้ยังไม่สามารถรับมือได้

            เช็กเลย 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กทม. แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มม. พร้อมเฝ้าระวังอีก 56 จุด เมื่อฝนตกเกิน 60 มม. รองผู้ว่าฯ ชี้ยังไม่สามารถรับมือได้ เตรียมจัดงบประมาณซื้อเครื่องสำรองไฟมาช่วยปั่นไฟระบายน้ำในอนาคต


            วันที่ 10 มิถุนายน 2562 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา เกิดจากปริมาณฝนที่สะสมมากถึง 136 มิลลิเมตร ส่วนความรุนแรงของฝนนั้นอยู่ที่ 160 มิลลิเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณฝนที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถรับมือได้

            ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะกายภาพของพื้นที่มีความลุ่มต่ำ และข้อจำกัดของระบบระบายน้ำเดิมของกรุงเทพมหานคร ทำให้ทุกครั้งที่ฝนตกปริมาณเกิน 100 มิลลิเมตร หรือมีความรุนแรงของฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร ต่อชั่วโมง ตั้งแต่ฝนตกจนกระทั่งฝนหยุด มีน้ำท่วมแน่นอน


            อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางกรุงเทพมหานครได้พยายามติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ไปติดตั้งในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในบริเวณดังกล่าว รวมถึงโครงการเพิ่มประสิทธิระบายน้ำอื่น ๆ แล้ว

            ทั้งนี้ มีจุดอ่อนน้ำท่วมแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ จุดเสี่ยงน้ำท่วม รวม 14 จุด แม้ปริมาณฝนไม่ถึง 60 มิลลิเมตร ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ส่วนจุดเฝ้าระวัง เมื่อฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร แล้วจะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง มีทั้งหมดรวม 56 จุด

            จุดเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร 14 จุด ประกอบด้วย

            1. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร
            2. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ
            3. ถนนพหลโยธิน ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์ และแยกเกษตร
            4. ถนนประชาราษฎร์ สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน
            5. ถนนราชวิถี ช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิต และเชิงสะพานกรุงธน
            6. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์
            7. ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน. พญาไท
            8. ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล - ไปรษณีย์ยานนาวา
            9. ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ - ถนนนางลิ้นจี่
            10. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์
            11. ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา - คลองแสนแสบ
            12. ถนนเพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนา - คลองราชมนตรี
            13. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ
            14. ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 - ถนนบางขุนเทียนชายทะเล

            นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ ยังกล่าวอีกว่า ภายในอุโมงค์บางซื่อไม่มีระบบไฟฟ้าสำรองมาตั้งแต่ออกแบบก่อสร้างอุโมงค์แล้ว รวมถึงอุโมงค์ระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำแห่งอื่น ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อก่อสร้างอุโมงค์บางซื่อแล้วเสร็จ และเปิดเดินเครื่องเมื่อปลายปี 2561 จึงได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร พิจารณาติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

            โดยในขณะนี้ สำนักการระบายน้ำ อยู่ในระหว่างร่างขอบเขตงาน และถึงแม้จะไม่มีเครื่องสำรองไฟ แต่ก็จัดรถปั่นไฟสำรอง รวม 18 คัน มาช่วยหมุนเวียนประจำสถานีสูบน้ำเมื่อเกิดปัญหาไฟดับ และเนื่องจากอุโมงค์บางซื่อมีกำลังสูบมากถึง 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทางกรุงเทพมหานครจึงกำลังพิจารณารูปแบบและประมาณราคา ซึ่งในอนาคตจะดำเนินการติดตั้งเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าในทุกสถานีต่อไป


14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กทม.
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่วมแน่นอน 14 จุด กทม. แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มม. ชี้ยังไม่สามารถรับมือได้ อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2562 เวลา 13:28:40 34,729 อ่าน
TOP